Bookmark and Share Add to Favorites  
สมาคม
  LIN (SURNAME)
   China's Lin Clan Network
   Chaoshan Lin
   สมาคมตระกูลลิ้มแห่งประเทศไทย
  ชุมชนชาวฮากกา
หนังสือพิมพ์
  ซินหัวไทย
  China Daily
  China News
  People's Daily Online
  Xinhua
  China Youth Daily
  Bangkokpost
  มติชน
  ไทยรัฐ
  เดลินิวส์
  ผู้จัดการ
  คมชัดลึก
  กรุงเทพธุรกิจ
  บ้านเมือง
  แนวหน้า
  ไทยโพสต์
  โพสต์ทูเดย์
  สยามรัฐ
  บางกอกทูเดย์
  โลกวันนี้
  เส้นทางเศรษฐกิจ
  มติชนสุดสัปดาห์
มุมนักเสี่ยงโชค
  ตรวจผลสลากกินแบ่งรัฐบาล
  ตรวจสลากย้อนหลัง
  ผลสลากออมสิน
  ธกส.ออมทรัพย์ทวีสิน
แลกเปลี่ยนเงินตราและหุ้น
  ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
  ธนาคารไทยพาณิชย์
  ธนาคารกรุงเทพ
  ตลาดหลักทรัพย์ - หุ้น
  ตลาดหุ้น
เว็บเครือข่าย
  สมบูรณ์อินโฟ
  ภูเก็ตสารสนเทศ
  สมบูรณ์แก่นโน้ต

เทศกาลวันเช็งเหม็งของชาวภูเก็ต

 

        วันเช็งเหม็ง 清明節, 清明节  หรือ ชิงหมิงเจ๋ย หรือ เช็งเม้งโจ่ย แล้วแต่สำเนียงตามภาษาท้องถิ่นที่อ่านกัน  เป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งของชาวจีน ที่จะต้องไปเซ่นไหว้บรรพบุรุษของตนที่สุสานหรือฮวงซุ้ย ซึ่งได้ปฏิบัติต่อเนื่องกันมาหลายพันปีแล้ว

        วันเช็งเหม็ง เดิมเรียกว่า วัน หันสือเจ๋ย หรือเทศกาลอาหารเย็นชืด ซึ่งเริ่มก่อนวันเช็งเหม็ง  ๓ วัน  เป็นวันที่ทางการไม่อนุญาตให้ประชาชนจุดไฟมีควันหุงหาอาหาร โดยเริ่มจากเมืองเจ๋ยซิ่ว มณฑลซานซี ปัจจุบันยังปฏิบัติกันอยู่ แต่การกินอาหารเย็นได้เลิกไปแล้ว  ต่อมาจีนได้เปลี่ยนเป็นวันเช็งเหม็ง  ประเทศเกาหลียังถือเป็นวัน หันซิก เทศกาลอาหารเย็นชืด แล้วจึงถึงวันไหว้บรรพบุรุษ  ส่วนในเวียดนามเรียกว่า วันตั๊ดทันมิน 

        ตามฤดูกาลแถบอบอุ่นมี ๔ ฤดู คือ ฤดูร้อน จากวันที่ ๔ – ๕ พฤษภาคม ถึง ๒๒ - ๒๓ กรกฎาคม ฤดูใบไม้ร่วงจาก ๗ – ๘ สิงหาคม ถึง ๒๓ – ๒๔ กันยายน  ฤดูหนาวเริ่มจากวันที่ ๗ – ๘ พฤศจิกายน ถึง ๒๐ – ๒๑ มกราคม และฤดูใบไม้ผลิ เริ่มจาก วันที่ ๔ – ๕ กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ ๒๐ – ๒๑ เมษายน 

        ในช่วงฤดูใบไม้ผลิ        ดวงอาทิตย์จะขึ้นและตกตามองศา                 

ลองกิจูดต่างกัน คือ ดวงอาทิตย์ขึ้น ๓๑๕ องศาที่ลองกิจูด เรียกว่า หลี่ชุน ประมาณวันที่ ๔ – ๕ กุมภาพันธ์  ๓๓๐ องศา เรียกว่า อวี่ซุ่ยประมาณวันที่ ๔ – ๑๙ กุมภาพันธ์  ๓๔๕ องศา เรียกว่า จิงเจ๋อ ประมาณวันที่ ๕ – ๖ มีนาคม  0 องศา เรียกว่า  ชุนเฟิน ประมาณวันที่ ๒๐ – ๒๑ มีนาคม         ๑๕ องศา เรียกว่า

ชิงหมิง ประมาณวันที่ ๔ – ๕ เมษายน  และ ๓๐ องศา เรียกว่า กู่อวี้ ประมาณวันที่ ๒๐ – ๒๑ เมษายน

        ดังนั้น ช่วงฤดูใบไม้ผลิ ที่เรียกว่า วันชิงหมิง ซึ่งเป็นวันที่ท้องฟ้าโปร่งใส ดวงอาทิตย์จะขึ้นที่ ๑๕ องศาที่ลองกิจูดและจะตกที่ ๓๐ องศาลองกิจูด  หรือตามปฏิทินสุริยคติ ประมาณวันที่ ๔ – ๕ เมษายน ตามเวลาของเอเชีย และสิ้นสุดประมาณวันที่ ๒๐ – ๒๑ เมษายน

 

ความเป็นมา

        ในยุคสมัยชุนชิวหรือยุคเจ้านครรัฐ สมัยราชวงศ์โจวตะวันออก ก่อน ค.ศ. ๗๗๐ ถึง ๗๒๐ พระเจ้าโจวผิงหวางได้ย้ายเมืองหลวงไปตั้งที่เมืองลั่วอี้ เมืองต่างๆที่มีกำลังกล้าแข็ง ต่างยกตนขึ้นเป็นเจ้านครรัฐ มีตำแหน่งเป็น กง ในสมัยนั้นฐานะกษัตริย์เป็น อ๋อง สูงสุด ตำแหน่งรองลงมาคือ กง หัวเมืองใหญ่จึงรวบรวมหัวเมืองเล็กเมืองน้อยเข้าด้วยกัน ตั้งเป็นเมืองเอก เมืองเล็กจึงต้องส่งส่วยให้เมืองใหญ่ และเมืองใหญ่ต้องส่งส่วยให้เมืองหลวง  การแต่งตั้งเจ้าเมืองที่เรียกว่าจูโหว หรือ จูเฮ้า กษัตริย์ทรงเป็นผู้ตั้ง  เจ้านครรัฐที่สำคัญคือ รัฐฉี(เจ๋) รัฐฉู่ (ฌ้อ) รัฐฉิน (จิ๋น)  และรัฐจิ้น  รัฐฉู่ต่อมาทำเลียนแบบเมืองหลวงคือตั้งตนเป็น อ๋อง ไม่ยอมขึ้นกับเมืองหลวง เจ้านครรัฐและจูโหวส่วนใหญ่เป็นนายพลทหารพวกแซ่จี  ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์โจวทั้งสิ้น  เมืองซ่งสืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์ซัง ต่างก็เป็นกงจู้ หรือ  องค์ชายองค์หญิง

        ในสมัยพระเจ้าโจวฮุ่ยหวาง ( จีหลาง )แห่งราขวงศ์โจวตะวันออก ซึ่งครองราชย์ระหว่างก่อนค.ศ. ๖๗๖ – ๖๕๒  เจ้านครรัฐจิ้น มีกงจู้เชง เชื้อสายราชวงศ์โจว ทรงมีโอรสพระนาม กงจู้อู่จู เมื่อกงจู้อู่จูสิ้นพระชนม์ จิ้นเหียนกง โอรสครองราชย์ต่อมา  จิ้นเหียนกงทรงมีโอรส ๕ องค์ คือ องค์ชายตงหนี หรือ ชงเอ้อ องค์ชายอีฮู องค์ชายซินเซง องค์ชายอีฮีเจ๋และองค์ชายโต๊ะจู ด้วยความที่อยากให้โอรสของตนเป็นองค์รัชทายาท พระสนมจึงวางแผนกำจัดองค์ชายบางพระองค์ให้ไปครองเมืองไกลๆแล้วฆ่าเสีย ชงเอ้อจึงหนีไปอยู่เมืองลู่

        จนถึง ก่อนค.ศ. ๖๕๑ จิ้นเหียนกงสิ้นพระชนม์ โอรสต่างแย่งกันเป็นกงด้วยขุนนางกังฉินยุยง องค์ชายอีฮูขึ้นครองราชย์ พระนามว่า จิ้นฮุยกง ก่อน ค.ศ. ๖๕๐ องค์ชายชงเอ้อกับทหารผู้จงรักษ์ต่างระหกระเหินไปอาศัยอยู่ตามเมืองต่างๆ บางเมืองก็ต้อนรับ บางเมืองก็ปิดประตูเมืองไม่ให้เข้าเมือง หาว่าองค์ชายชงเอ้อไม่เชื่อฟังพระบิดา  ในช่วงที่เดินทางรอนแรมระหว่างเมือง องค์ชายและทหารต่างหิวโหยไม่มีอะไรจะกิน  ทหารผู้ติดตามคนหนึ่งชื่อ เจ๋ยจื่อตุ้ย (介之推) หรือ ไกจือฉุย เห็นองค์ชายทรงหิวมาก ด้วยความซื่อสัตย์ จึงเอากระบี่แล่เนื้อต้นแขนซ้ายออกมาชิ้นหนึ่ง แล้วเอาไปต้ม ส่วนแผลตนได้ใช้ผ้าพันไว้  เมื่อองค์ชายชงเอ้อหอมเนื้อต้มและเสวยจนหมด ทรงถามว่าเอาเนื้อมาจากไหน เจ๋ยจื่อตุ้ยจึงทูลความจริง  จนพระองค์ทรงสลดพระทัยจนน้ำตาคลอเบ้าทื่ทรงได้รับความทุกข์ยากถึงขนาดนั้น 

        ทรงเดินทางถึงเมืองฉี เจ้านครฉี คือ ฉีฮวนกงทรงให้ข้าวของและทรงยกบุตรสาวให้เป็นชายา  ทรงอยู่เมืองฉี ๘ ปี มีความสุขสบายไม่ทรงคิดที่จะไปกู้บ้านเมืองจิ้นของพระองค์ จนพวกนายทหารผู้ติดตามวางแผนมอมสุรา แล้วอุ้มขึ้นเกวียนเดินทางออกจากเมืองฉีผ่านเมืองโจ๋ เดินทางเข้าเมืองซ่ง เข้าพบซ่งเซียงกง  แล้วเดินทางต่อไปยังเมืองเตง แต่เจ้าเมืองไม่ต้อนรับปิดประตูเมืองเสีย  หาว่าชงเอ้อไม่เชื่อฟังบิดา ที่ทรงสั่งสอน

ชงเอ้อจึงเดินทางต่อไปยังเมืองฉู่ 

        ขณะนั้น องค์ชายอีฮู น้องชายครองเมืองจิ้นได้ ๑๔ ปี เจ้าเมืองฉู่จึงวางแผนยึดเมืองจิ้นให้องค์ชายชงเอ้อ ข้างชงเอ้อเดินทางต่อไปยังเมืองฉิน เจ้าเมืองต้อนรับและยกบุตรสาวให้เป็นภรรยา 

        ข้างจิ้นฮุยกง เจ้านครจิ้นสิ้นพระชนม์ โอรสขึ้นครองราชย์พระนามว่า จิ้นฮวยกง ข้างเมืองฉินได้จัดกองทัพให้ชงเอ้อยกทัพไปยึดเมืองจิ้นคืน   พวกนายทหารเก่าผู้ติดตามองค์ชายชงเอ้อ ต่างน้อยใจที่ชงเอ้อตรัสไม่ให้เกียรติพวกตนรวมทั้งเจ๋ยจื่อตุ้ยด้วย  จึงพากันหนีออกไป ข้างเจ๋ยจื่อตุ้ยไปอยู่กับมารดา ในขณะที่องค์ชายชงเอ้อเสด็จขึ้นครองราชย์  ทรงพระนามว่า จิ้นเหวินกง พระองค์พระราชทานบำเหน็จรางวัลแก่ผู้ติดตาม และบรรดาขุนนางน้อยใหญ่ทุกตัวคน  แต่ทรงลืมเจ๋ยจื่อตุ้ยเสียสนิท

        ฝ่ายเจ๋ยจื่อตุ้ยตั้งแต่หนีองค์ชายชงเอ้อมาด้วยความน้อยเนื้อต่ำใจ จึงมาช่วยมารดาทอเสื่อขาย  เมื่อเพื่อนบ้านเห็นต่างถามว่าทำไมไม่ไปรับรางวัล เพราะเคยเป็นผู้ติดตามพระเจ้าจิ้นเหวินกงมาก่อนถึง ๑๙ ปี เคยอดอยากลำบากด้วยกันมาก่อน  ข้างมารดาก็เร่งให้ไปรับรางวัล เพื่อบุตรจะได้สุขสบาย ดีกว่ามานั่งทอเสื่อขายยากจนแบบนี้  เจ๋ยจื่อตุ้ยไม่ยอมไปเมื่อเพื่อนบ้านถามมากเข้า ด้วยความรำคาญ จึงพามารดาออกจากเมืองเกาเหลี่ยม ไปอยู่ในป่าระหว่างภูเขาจินซาน  ฝ่ายจิ้วจางหรือไกเตียว เพื่อนบ้านเจ๋ยจื่อตุ้ยอดสงสารไม่ได้จึงเขียนเป็นคำโคลง พรรณนาถึงความทุกข์ยาก ๑๙ ปีแห่งความหลัง แล้วเอาไปปิดไว้ที่กำแพงเมือง

        เมื่อความทรงทราบ จึงให้ทหารไปตามเจ๋ยจื่อตุ้ยมาเข้าเฝ้า  เมื่อทรงทราบว่าเขาได้อพยพไปเสียแล้ว พระองค์จึงทรงให้จิ้วจางไปสืบหาที่อยู่ของเขา พระองจึงเสด็จพร้อมด้วยผู้ติดตามไปยังตำบลดังกล่าว แต่เจ๋ยจื่อตุ้ยกลับพามารดาหนีเข้าป่าทึบเทือกเขาสูงเสีย  พระองค์ทรงเสียพระทัยมากและละอายพระทัยที่ทรงลืมผู้มีพระคุณต่อพระองค์  จึงทรงปรึกษากับพวกขุนนางผู้ติดตามว่า ทำอย่างไรจะให้เจ๋ยจื่อตุ้ยออกมาจากป่าให้ได้  จึงทรงคิดอุบายขึ้นได้ว่า ให้เผาป่าทั้งภูเขา เจ๋ยจื่อตุ้ยคงหนีไฟออกมาแน่  รับสั่งให้พวกทหารติดตามเผาไฟทั้งป่าบนภูเขา 

        ข้างเจ๋ยจื่อตุ้ยเห็นไฟป่ากำลังโหมเข้ามาที่พักของตน จึงพามารดาหนีต่อไป จนสุดทางหนีไฟและควันโขมงหายใจไม่ออก จึงพามารดาเข้าไปหลบในโพรงต้นไม้ใหญ่  ข้างพระเจ้าจิ้นเหวินกงทรงคอยให้เจ๋ยจื่อตุ้ยออกมาก็ไม่เห็น จึงให้ทหารเข้าไปสำรวจดู  ปรากฏว่า  มีซากศพสองศพกองอยู่ในโพรงต้นไม้กอดกันกลม ถูกไฟเผาและสำลักควันตาย

        เมื่อพระองค์เสด็จไปถึง ทอดพระเนตรเห็นทรงกรรแสงและเสียพระทัยในความโง่เขลาของพระองค์ที่ทรงทำให้เจ๋ยจื่อตุ้ยและมารดาเสียชีวิต ตลอดจนสัตว์ป่านานาชนิดและพืชพรรณไม้มาตายด้วยความคิดของพระองค์เช่นนี้  จึงทรงสร้างศาลเจ้าขึ้นบนภูเขานั้น แล้วเอากระดูกแม่ลูกบรรจุไว้ ทำการสักการะ ให้ชาวบ้านแถบนั้นเป็นผู้มาดูแลเซ่นไหว้ตลอดทุกปี  แล้วทรงกำหนดวันระลึกถึงท่าน เจ๋ยจื่อตุ้ย เรียกว่า วันไห่ซื่อ หรือ วันอาหารเย็นชืด ทุกปีของวันนี้ ทุกหมู่บ้านครัวเรือนจะไม่ก่อไฟหุงข้าว ทำอาหารอะไรทั้งสิ้น เป็นวันที่ปลอดจาก ควันและไฟ  แต่ชาวบ้านจะกินอาหารที่ทำไว้เมื่อวานแทน  จึงเป็นวันที่ต้องกินอาหารและน้ำแบบเย็นชืดตลอดทั้งวัน  เป็นประเพณีที่ได้ปฏิบัติกันต่อเนื่องมาเป็นพันปี

        ในปี พ.ศ. ๑๒๗๕ รัชสมัยฮ่องเต้ถังเสวียนจง  ( หลี่หลงจี ) ใช้ปีรัชกาลไคเอวี๋ยนที่ ๒๐ ได้ทรงประกาศให้เป็นวันเทศกาลของชาติ ด้วยทรงเห็นว่า พวกขุนนางผู้ใหญ่และพวกคนรวยประกอบพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษ ด้วยการลงทุนที่สูงเปลืองเงินโดยใช่เหตุ  เพื่อที่จะ ลด ค่าใช้จ่ายของประเพณีนี้ลง  พระองค์จึงรับสั่งให้ประกาศว่า การเซ่นไหว้บรรพบุรุษที่สุสานให้จัดได้ในช่วงเทศกาลไห่ซื่อเท่านั้น และได้ปฏิบัติกันมาจนถึงสมัยราชวงศ์ชิง เมื่อ พ.ศ. ๒๑๘๗ – ๒๔๕๔  จึงได้มีการประกาศเปลี่ยนแปลงชื่อจาก เทศกาลไห่ซื่อ เป็น เทศกาลชิงหมิง

 

กำหนดวันไหว้บรรพบุรุษ

        การกำหนดวันไหว้บรรพบุรุษที่สุสาน   ตามเวลาวันที่กำหนดแล้ว คือ ระหว่างวันที่ ๔ – ๕ เมษายนถึง ๒๐ – ๒๑ เมษายน  ลูกหลานอาจไหว้ระหว่าง ๑๐ วันก่อนวันกำหนด และ ๑๐ วันหลังวันกำหนด  เช่น กำหนดวันที่ ๕ เมษายน จึงไหว้ได้ตั้งแต่วันที่ ๒๖ มีนาคม หลังวันที่ ๕ เมษายน  จึงไหว้ได้ถึงวันที่ ๑๕ เมษายน หรือในช่วง ๑๕ วันแรกของเดือน ๓ ก็ได้ เช่นปี ๒๕๕๑ เริ่มจากวันที่ ๖ เมษายน  ถึงวันที่ ๒๐ เมษายน เป็นต้น ทั้งนี้แล้วแต่ความสะดวกของญาติพี่น้อง ที่จะนัดกันไปไหว้ที่สุสาน ซึ่งบางครอบครัวจะต้องไปเซ่นไหว้หลายแห่งหลายหลุมศพ จึงต้องสลับกันไป

 

ก่อนการเซ่นไหว้บรรพบุรุษ

        ก่อนการไหว้จะต้องไปทำความสะอาดฮวงซุ้ย ด้วยการถางหญ้าวัชพืช กวาดใบไม้ ขัดถูพื้นและผนังที่มีขี้ไคล พูนดินเอาขยะของที่ไหว้เก่าออกให้หมด หากเห็นว่าสีเริ่มซีดจางก็จัดการทาสีใหม่ ซ่อมแซมส่วนที่ชำรุดด้วยกาลเวลา ให้มองดูสดใสสะอาดตา  แต่ถ้าเป็นฮวงซุ้ยประจำตระกูล ที่มีที่ดินเป็นสัดส่วนของตนเอง ลูกหลานมีฐานะและเอาใจใส่ มีคนรักษาสภาพตลอดปี สุสานก็ดูสะอาดดีน่ารื่นรมย์ตลอด น่าเข้าไปนั่งไหว้สักการะ ไม่วังเวงน่ากลัว  ส่วนสุสานสาธารณะหลายแห่ง ช่วงที่ไม่มีกิจกรรมจะมีต้นไม้วัชพืช เช่น หญ้าคาปกคลุม บางคนเผาไฟไล่หญ้าคา แต่พอช่วงฤดูฝนต้นหญ้าก็งอกงามตามเดิม  จึงจำเป็นต้องทำความสะอาดกันทุกปี ถือเป็นหน้าที่ของลูกหลานที่จะต้องปฏิบัติ

        เมือกาลเวลาเปลี่ยนไป  การฝังศพเริ่มมีปัญหาเรื่องที่ดิน ค่าใช้จ่ายงานศพ ด้วยการเคลื่อนย้ายศพแพงและมีพิธีการมาก  หลายคนจึงหันมาทำการเผาศพ แล้วเอากระดูกไปบรรจุที่เจดีย์ที่เรียกว่า บัว แทน ซึ่งสามารถประกอบพิธีกรรมแบบจีนได้ ถ้าต้องการ แต่กระบวนการทำความสะอาดบัวบรรจุกระดูกก็ต้องทำเช่นเดียวกัน ด้วยการกวาดใบไม้วัชพืช เช็ดล้างขัดถูบัว ทาสีใหม่ ซ่อมบูรณะบางส่วนที่สึกหรอ ให้ดูสดใสสวยงาม  ก่อนกำหนดการไหว้

 

เซ่นไหว้ใครบ้าง

        บริเวณฮวงซุ้ยหรือสุสานจะประกอบด้วยสิ่งที่ลูกหลานจะต้องเซ่นไหว้ ดังนี้

๑.    ตัวแป๊ะกง หรือ แป๊ะกง หรือปุนเถ่ากง หรือ พระภูมิเจ้าที่ ผู้ดูแลปกปักรักษาบริเวณสุสานหรือบัวบรรจุกระดูก ซึ่งจะมีแท่นบูชาอยู่ด้านหน้าของฮวงซุ้ย อาจมีป้ายชื่อ แจกันดอกไม้ ที่ปักธูปเทียน  สุสานสาธารณะบางแห่งสร้างศาลเจ้าตัวแป๊ะกง หรือปุนเถ่ากงไว้ด้านหน้าทางเข้าด้วย ซึ่งสะดวกต่อการเซ่นไหว้เช่นเดียวกัน

๒.    โฮ้วตี่กง หรือ เทพยดาผืนดิน ผู้เป็นเจ้าของที่ดินที่ลูกหลานเอาศพหรือกระดูกบรรพบุรุษ ไปฝังไว้ในที่ดินของพระองค์ ลูกหลานจึงต้องทำพิธีกล่าวเซ่นไหว้         เอ่ยชื่อถึงพระองค์ด้วย

๓.   ฮวงซุ้ยหรือหลุมฝังศพ ฝังกระดูกบรรพบุรุษ  ซึ่งมีขนาดเล็กใหญ่เรียบง่ายหรูหรา ตามฐานะของลูกหลาน

 

ของที่จะเซ่นไหว้

        ของหลักที่จะต้องเตรียมนำไปไหว้ ได้แก่

๑.  ส่ามเซ่ง ของคาวสามอย่าง  คือ ไก่ต้มมีหัว  หมูต้มเป็นชิ้น ปลาย่างหรือปลาทอดมีหัวมีหาง หรืออาจเป็นปลาหมึกก็ได้

๒.   หมี่ผัด

๓.   ไข่ไก่ต้มทาสีแดงหรือไม่ก็ได้

๔.   ขนมหวาน ได้แก่ อั๋งกู้ หวดโก้ย ป๊ะทงโก ข้าวเหนียวกวน

๕.   ผลไม้ ๓ / ๕ / ๗ อย่าง ตามที่กำหนดและจำนวนตามศรัทธา

๖.   สุราขาว ๓ จอก และสุราสำหรับรินไหว้

๗.   ตะเกียบ ๓ คู่

๘.   อาหารคาว ๑ ชุด อาจใส่ปิ่นโตหรือแล้วแต่ลูกหลานจะเตรียมไปสักการะ

๙.   ข้าวสวย ๓ ถ้วย

๑๐. ธูปเทียน

๑๑. กระดาษเงินกระดาษทอง

๑๒. กระดาษสีมุงหลังคา

๑๓. ดอกไม้ปักแจกัน

๑๔. กระดาษกงเต็ก

๑๕. ประทัด

๑๖. อื่นๆ  ตามที่ลูกหลานต้องการจะไหว้

 

พิธีเซ่นไหว้

๑.    ไหว้ตัวแป๊ะกง

    ของที่จะนำมาเซ่นไหว้ได้แก่ ผลไม้ ขนมหวานทั้งสาม ดอกไม้ธูปเทียน  จะไม่นำของคาวมาเซ่นไหว้ ของที่ตั้งอาจจะอย่างละชิ้นผลไม้อย่างละหนึ่งลูกใส่รวมกันก็ได้ พร้อม “กระดาษทอง”เท่านั้น 

    จุดธูปสามดอกจุดเทียน คำกล่าว

    “ข้าพเจ้าขอไหว้ตัวแป๊ะกง พระภูมิเจ้าที่ผู้ปกปักรักษาบริเวณฮวงจุ้ย/เจดีย์บรรจุของ...ผู้เป็นบรรพบุรุษของข้าพเจ้า  ขอให้ตัวแป๊ะกงมารับเครื่องเซ่นไหว้ด้วย และขอให้ข้าพเจ้ามีอายุยืน ร่ำรวยด้วยเทอญ”

๒.    ไหว้โฮ้วตี่กง

    ให้กล่าวคำไหว้เช่นเดียวกับตัวแป๊ะกง  โดยเอ่ยชื่อหลังจากการไหว้ตัวแป๊ะกงแล้ว

๓.    ไหว้บรรพบุรุษ

     ก่อนที่จะเซ่นไหว้ ลูกหลานจะประดับกระดาษสีมุงหลังคาเสร็จแล้ววางของเซ่นไหว้ ตามข้อ ๑ ถึงข้อ ๑๑ ข้อ ๑๓ และข้อ ๑๖ถ้ามี  แล้วจึงจุดเทียนคู่หนึ่ง จุดธูป ๑ ดอก ถ้าสามีภรรยาคนใดคนหนึ่งยังอยู่ จุดธูปสามดอกถ้าทั้งคู่ตายหมด

คำกล่าว

    “ข้าพเจ้าขอสักการะ........ออกชื่อบรรพบุรุษ  ขอให้......ออกชื่อบรรพบุรุษ  มารับเครื่องเซ่นไหว้ ประกอบด้วย ของหอม ธูปเทียน สุรา อาหารคาวหวานและผลไม้  เมื่อมารับประทานแล้ว ขอให้ข้าพเจ้าและลูกหลานทุกคน อยู่เย็นเป็นสุข มีอายุยืน ร่ำรวยด้วยเทอญ”

        บางแห่งอาจจะไหว้แตกต่างกัน คือ ผู้เป็นหัวหน้าครอบครัวหรือ ผู้อาวุโสกว่าใคร จะรินสุราใส่จอก คำนับสามครั้ง  แล้วเทสุราจอกนั้นลงหน้าป้ายฮวงซุ้ยที่เซ่นไหว้  ส่วนญาติคนอื่นก็จะยืนหน้าป้ายพร้อมตัวแทนถือสุราหนึ่งจอกคำนับหรือไหว้สามครั้ง แล้วตัวแทนรินสุราลงหน้าป้าย

        และบางบ้านจะไหว้อาหารคาวในช่วงเช้าของวันที่กำหนด เช่นวันที่ ๔ เมษายน ของปี ที่หน้าป้ายวิญญาณภายในบ้าน และไหว้ผีไม่มีญาติที่หลังบ้าน  ส่วนการเช็งเหม็งที่สุสานจะเลือกวันที่เหมาะสม และจะไม่มีอาหารคาวตามข้อที่ ๘ ที่ ๙

 

        เมื่อธูปติดไปได้ครึ่งดอก จึงเผากระดาษทองที่หน้าแท่นตัวแป๊ะกง เสร็จแล้วจึงเผากระดาษเงินที่หน้าของเซ่นไหว้บรรพบุรุษ  แล้วตามด้วยกระดาษทอง และกระดาษกงเต็ก ตามลำดับ  เสร็จแล้วแบ่งอาหารทุกอย่างๆละนิดหน่อยลงไปในกองไฟที่เผา

         แล้วจุดประทัด

         เก็บข้าวของคาวหวาน แจกญาติพี่น้องทุกคน หรือรับประทานอาหารร่วมกันที่สุสาน เป็นเสร็จกิจกรรมวันเช็งเหม็ง

 

 

          :  สมบูรณ์ แก่นตะเคียน   ๘ มีนาคม ๒๕๕๑

 

Title   :   Qing Ming Festival

 

         :   Somboon Kantakian 

 

       

       

 

                

 

บทความอื่นๆ ในหมวดเดียวกัน