วันตรุษจีนของชาวภูเก็ต
ความเป็นมา
วันตรุษจีน หรือวันขึ้นปีใหม่จีน หนงลี่ซินเหนียน ตรงกับวันที่ ๑ ค่ำ เดือน๑ ตามจันทรคติหรือปฏิทินจีน ซึ่งเป็นวันเริ่มฤดูใบไม้ผลิ หรือ ชุนเจ๋ย วันเทศกาลปีใหม่ หรือ วันฉูซี หมายถึงการเปลี่ยนวันจ่าย วันปีใหม่นับไปจนถึงวันที่ ๑๕ ค่ำ เดือน ๑ เป็นวันสุดท้าย ซึ่งเป็นวันเทศกาลโคมไฟ เรียกว่า เซวี๋ยนเซียวเจ๋ย
กล่าวกันว่า วันตรุษจีนเริ่มตั้งแต่สมัยพระเจ้าหวงตี้ คือ สมัยซานหวงอู่ตี้ ประมาณก่อน ค.ศ. ๒๖๐๐ ปี แต่ก็ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดแจ้ง
ประมาณ ก่อนค.ศ. ๑๖๐๐ ไท้อี้ในฐานะที่เป็นเจ้านครปั๋ว ได้ร่วมมือกับพันธมิตรคือพวกเจ้านครที่ขึ้นตรงต่อราชวงศ์เซี่ย ทำการโค่นล้มราชวงศ์เซี่ยสำเร็จโดยอ้างว่า กษัตริย์เซี่ยเจี่ยไม่ทรงตั้งอยู่ในความยุติธรรม และโหดร้ายทารุณต่อราษฎร นอกจากนี้ไท้อี้ยังอ้างด้วยว่า ตนได้รับพระบัญชาจาก องค์ซังตี้ หรือ ส่องเต่ ผู้เป็นเทพเจ้าสูงสุดแห่งสวรรค์ ให้ทำการปราบปรามยุคเข็ญ ซึ่งเป็นความชอบธรรมของตนที่จะกระทำการปฏิวัติดังกล่าว แล้วสถาปนาตนเองเป็นกษัตริย์ ทรงพระนามว่า พระเจ้าเฉิงทัง ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ซัง ชนเผ่าซังนอกจากจะเคารพบูชาเทพเจ้าซังตี้แล้ว ยังมีเทพเจ้าแห่งธรรมชาติ ได้แก่ เทพพระอาทิตย์ พระจันทร์ ดวงดาวต่างๆ เทพแห่งลม เทพแห่งฝน เทพแห่งน้ำ พระธรณี เทพแห่งแม่น้ำ ปรากฏการณ์ธรรมชาติต่างๆ เช่น ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า ตลอดจนสถานที่ที่ถือว่าศักดิ์สิทธิ์ และประการสำคัญ ชนเผ่าซังยังเคารพบวงสรวงบรรพบุรุษด้วย พวกเขามีความเชื่อว่า บรรพบุรุษเมื่อตายไปแล้ว จะไปสถิตอยู่บนสวรรค์ และยังมีความสัมพันธ์อยู่กับครอบครัวลูกหลานอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นพวกเขาจึงต้องปฏิบัติต่อพิธีกรรมเซ่นไหว้บรรพบุรุษเป็นอย่างดี หากปฏิบัติไม่ดีจะมีผลต่อครอบครัว การบวงสรวงต่อวิญญาณบรรพบุรุษและเทพเจ้าต่างๆจึงมีความสำคัญ
การบวงสรวงเทพเจ้าก็เพื่อขอให้เทพเจ้าดลบันดาลให้เกิดความงอกงามด้านเกษตรกรรม ฝนตกต้องตามฤดูกาล การเก็บเกี่ยวได้ผลดี ส่วนการบวงสรวงต่อบรรพบุรุษนั้นก็เพื่อติดต่อกับดวงวิญญาณของท่านให้ช่วยอำนวยพรให้ตามที่พวกตนขอ
การประกอบพิธีกรรมบวงสรวงต่อเทพเจ้าองค์ต่างๆ และบรรพบุรุษจะรวมกันเป็นหนึ่งเดียว คือ องค์เทพเจ้าซังตี้ ซึ่งผู้เป็นประธานในพิธีเป็นกษัตริย์เท่านั้น ทั้งนี้อาจจะเพื่อทรงรักษาพระราชอำนาจในชนเผ่าไว้
ในพิธีกรรมบวงสรวงเซ่นไหว้เทพเจ้าซังตี้และดวงวิญญาณบรรพบุรุษ นอกจากการเตรียมกระดองเต่าหรือกระดูกสัตว์ดังได้กล่าวมาแล้ว พนักงานในพิธีซึ่งเป็นผู้ช่วยกษัตริย์ จะต้องเตรียมภาชนะเครื่องทองบรอนซ์ ประกอบด้วยภาชนะดังนี้
๑) แท่นวางของ หรือตั่ง หรือ โต๊ะ
๒) หม้อติง อาจเป็นทรงกลมสามขาหรือทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าหรือสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่มีสี่ขา มีสองหูขนาดใช้ไม้สอดเข้าหามได้ สำหรับปรุงและใส่อาหาร
๓) กุ้ย เป็นภาชนะสำหรับใส่เมล็ดพืช บางที่มีฝาปิด
๔) เต้า เป็นจานไม้ สำหรับใส่เนื้อ
๕) หู เป็นเหยือกใส่สุรามีฝาปิด
๖) พาน เป็นพานมีเชิงสำหรับบรรจุน้ำ
๗) อี้ หรือ เหอ เป็นกาใส่สุรา มีฝาปิ
๘) จอกสุรามีหลายแบบ ( จือ เจี่ย จิว เจี่ยว )
๙) เส้า เป็นทัพพี
๑๐) อื่นๆ
ในสมัยราชวงศ์โจว ได้มีการกำหนดการนำภาชนะทองบรอนซ์ไปประกอบพิธีกรรมบวงสรวงเทพเจ้าและดวงวิญญาณบรรพบุรุษไว้ดังนี้
กษัตริย์ ใช้ ติง ๙ ใบใช้ กุ้ย ๘ ใบ
ขุนนางชั้นจูโหวหรือ กงใช้ ติง ๗ ใบใช้ กุ้ย ๖ ใบ
ขุนนางชั้นไต้ฟู่ ใช้ ติง ๕ใบใช้กุ้ย ๓ใบ
ขุนนางชั้น ซื่อใช้ ติง ๓ ใบใช้ กุ้ย ๒ ใบ
อย่างไรก็ตามได้มีการจัดปีใหม่ในสมัยราชวงศ์จิ๋น ก่อน ค.ศ. ๒๒๑ ๒๐๗ โดยยึดถือเอาเดือนที่ ๑ เริ่มตั้งแต่สมัยราชวงศ์เซี่ย ก่อน ค.ศ. ๒๑๐๐ ๑๖๐๐ ได้มีการใช้เดือน ๑๒ ในสมัยราชวงศ์ซัง ก่อน ค.ศ. ๑๖๐๐ ๑๐๒๘ และ เดือนที่ ๑๑ เริ่มในสมัยราชวงศ์โจว ก่อน ค.ศ. ๑๐๒๗ ๒๕๖ จากหลักฐานกล่าวไว้ว่า ได้มีการนับเดือนที่ ๑ ซึ่งใช้ปฏิทินจันทรคติพ่วงกับสุริยคติ โดยเพิ่มหลังจากเดือนที่ ๑๒ ที่ปรากฏในอักษรกระดองกระดูก ( เจี่ยกู่เหวิน ) ในสมัยราชวงศ์ซังและราชวงศ์โจว จากการบันทึกของนักประวัติศาสตร์จีน ซือหม่าเฉียน กล่าวว่า จิ๋นซีฮ่องเต้ ได้ทรงเปลี่ยนปีเริ่มต้นเป็นเดือนที่ ๑๐ ในปี ก่อน ค.ศ. ๒๒๑ และทรงเปลี่ยนปีอธิกสุรทินในเดือนที่ ๙ ปีใหม่จึงเริ่มในเดือนที่ ๑๐ ของเดือนที่ ๑
ต่อมาฮ่องเต้ฮั่นอู่ตี้ ( หลิวเฉอ ) ทรงครองราชย์ระหว่างก่อน ค.ศ. ๑๔๐- ๘๗ ในปีก่อน ค.ศ. ๑๐๔ โปรดฯให้ใช้เดือนที่ ๑ เป็นเดือนเริ่มต้นของปี และได้ใช้ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
จากตำนานกล่าวว่า เหนียน ซึ่งแปลว่า ปี เป็นชื่อของปีศาจดุร้ายตนหนึ่งที่อาศัยอยู่บนภูเขาสูงแห่งหนึ่ง แต่บางตำนานว่าอาศัยอยู่ในทะเล ปีศาจเหนียนจะออกมาจับคนกินเป็นอาหารทุกรอบสิบสองเดือนซึ่งอยู่ในช่วงปลายฤดูหนาว ไม่มีใครสามารถปราบได้ แต่ด้วยบังเอิญที่ชาวเมืองเริ่มรู้ว่าปีศาจเหนียนไม่ชอบเสียงดังแบบระเบิด เช่นประทัด และไม่ชอบสีแดง เมื่อใกล้รอบสิบสองเดือน ชาวเมืองจึงเตรียมการสู้กับปีศาจเหนียนด้วยการเตรียมประทัดไว้ทุกบ้าน และให้แต่ละบ้านเอาสีแดงป้ายทาที่ประตูหน้าบ้าน แขวนข้าวของสีแดงๆ กระดาษสีแดงไว้ตามที่ต่างๆ ตามถนนหนทาง บ้านเรือน ศาลเจ้า เมื่อถึงเวลาที่ปีศาจเหนียนเข้ามาในเมือง ชาวเมืองจึงช่วยกันจุดประทัดทุกบ้านเสียงดังสนั่นไปทั่วเมือง แสงไฟมองเห็นเป็นสีแดงฉาน ปีศาจเหนียนจึงไม่กล้าเข้าเมืองอีกเลย นานเข้าจึงถือเป็นประเพณี เมื่อถึงวันดังกล่าวจึงยึดเป็นวันขึ้นปีใหม่ ส่วนรูปร่างหน้าตาของเหนียนก็คือสิงโตชนิดหนึ่งที่คนจีนเอามาเชิดสิงโตนั่นเอง บางรูปจะนำไปเป็นส่วนหนึ่งของรูปสัตว์ต่างๆที่อยู่ทางเข้าสุสาน
วันขึ้นปีใหม่ต่อมาได้จัดไปตามความเหมาะสมของท้องถิ่นที่คนจีนไปอาศัยอยู่บ้านเมืองอื่น จึงมีความแตกต่างกันบ้าง เช่น จีนแผ่นดินใหญ่จัด ๓ วันแรก มาเลเซีย สิงคโปร์ ๒ ๓ วัน ไต้หวัน ๕ วัน เกาหลี ๑ วัน เวียดนาม ๓ วันแรก บรูไน อินโดนีเซีย วันแรก ๑ วัน
ในปีนักษัตรต่อไป มีดังนี้
ชวด 鼠 - 子 วันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑
ฉลู 牛- 丑 วันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๕๒
ขาล 虎 -寅 วันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓
เถาะ 兔 - 卯 วันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔
มะโรง龍 - 辰 วันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๕๕
มะเส็ง蛇 -巳 วันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖
มะเมีย馬-午 วันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๕๗
มะแม 羊- 未 วันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘
วอก 猴 - 申 วันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙
ระกา雞 - 酉 วันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๖๐
จอ 狗 - 戌 วันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑
กุน 豬 -亥 วันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒
การเตรียมงาน
เจ้าของบ้านจะทำความสะอาดบ้านก่อนวันที่ ๒๔ ค่ำเดือน ๑๒ หลังจากวันนี้ไปแล้วจะไม่ทำความสะอาดจนกว่าจะพ้นวันปีใหม่ เป็นการทำความสะอาดประจำปี ก่อนที่จ้าวฮุ่นกงจะเสด็จขึ้นสวรรค์ เกรงว่าจ้าวฮุ่นกงจะไปรายงานว่าบ้านนี้สกปรก อีกประการหนึ่งบรรดาญาติพี่น้องและเพื่อนบ้านจะมาเยี่ยมและกินเลี้ยงในช่วงวันปีใหม่ จึงมีความจำเป็นต้องทำ เพราะเวลาปรกติต่างก็ออกไปทำงานทำมาหากิน
เจ้าบ้านจะเตรียมป้ายคำขวัญคำอวยพรที่จะต้องติดไว้ประตูหน้าบ้าน คือเหนือประตูหนึ่งแผ่น สองข้างประตูข้างละแผ่น ไหโอ่งข้าวสารจะติดป้ายคำว่า ฮก ไว้ด้วย อาจจะต้องเตรียมป้ายผ้าหรือฉ้ายอิ้วไว้กางแขวนไว้เหนือประตูหน้าบ้าน และผ้าโต๊ะอุ๋ยสำหรับโต๊ะวันไหว้เทวดา
เจ้าบ้านจะต้องรีบเคลียร์หนี้สินต่างๆที่ติดค้างใครต่อใครไว้ จะรีบชำระให้หมด ก่อนที่เทพจ้าวฮุ่นกงจะเสด็จสวรรค์ เพื่อแสดงให้เห็นว่าคนบ้านนี้ไม่มีหนี้สิน เพราะตลอดปีที่ผ่านมาได้ทำงานหนักและใช้หนี้หมดและมีเงินเก็บไว้สำหรับไหว้เจ้าแจกอั่งเปาให้ลูกหลานและไปเที่ยวด้วย
ครอบครัวที่กำลังไว้ทุกข์ใส่ชุดดำ ห้ามไหว้เทวดาวันที่ ๙ ค่ำ เดือน ๑ อย่างเดียว ถ้าออกชุดเขียวก็สามารถไหว้ได้
วันไหว้มีวันใดบ้าง
๑. วันส่งเสด็จเทพเจ้าขึ้นสวรรค์
ในวันที่ ๒๔ ค่ำ เดือน ๑๒ จ้าวฮุ่นกงเสด็จขึ้นสวรรค์เพื่อเข้าเฝ้าหยกอ๋องส่องเต่ เพื่อกราบบังคมทูลเรื่องราวต่างๆภายในหนึ่งปีของเจ้าของบ้านและบริวารทั้งสิ่งดีสิ่งชั่วที่กระทำกันไว้ตามบัญชีที่จดบันทึก เพื่อเทพเจ้าจะได้ประทานพรและลงโทษตามโทษานุโทษ
ภาคเช้า เจ้าบ้านเตรียมผลไม้ ๓ / ๕ / ๗ ชนิดตามจำนวนที่ศรัทธาเพื่อสักการะเทพเจ้าทั้งสามแห่ง โดยเฉพาะที่หน้าเตาไฟในครัวคือ เทพจ้าวฮุ่นกง
๒. วันไหว้บรรพบุรุษ
คือวันที่ค่ำสุดท้ายของเดือน ๑๒ บางตำนานกล่าวว่าเทพเจ้าทั้งปวงเสด็จลงมายังโลกมนุษย์ในช่วงวันที่ ๒๘ ๓๐ ค่ำและวิญญาณบรรพบุรุษจะมารออยู่แล้ว ส่วนเทพเจ้าและบรรพบุรุษที่จะต้องเซ่นไหว้ หรือสถานที่ที่เจ้าของบ้านจะต้องเซ่นไหว้ มีดังนี้
๒.๑ ทีกง หรือ หยกอ๋องส่องเต่ และเทพเจ้าทั้งปวง จะมีป้ายและที่ปักธูปเทียนตั้งอยู่ทางซ้ายมือของหน้าบ้าน
๒.๒ เทพประจำบ้าน ส่วนใหญ่จะอยู่ตรงห้องโถงแรกของตัวบ้าน จะมีฉากหรือผนังกั้น เทพประจำบ้านจะเป็นองค์ใดนั้นแล้วแต่เจ้าของบ้านที่ได้ตั้งเคารพต่อเนื่องกันมาแต่บรรพบุรุษ เช่น ปุนเถ่ากง กวนอู หลิมฮู้ไท่ซือ ฯลฯ
๒.๓ จ้อกง จ้อกงม่า จ้อกงโป๋ บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ
๒.๔ จ้าวอ๋อง หรือ จ้าวฮุ่นกง เทพแห่งเตาไฟในครัว
๒.๕ โฮ่วเหี่ยวตี่ ผีไม่มีญาติ
๒.๖ เทพประจำประตู
๓. ช่วงเวลาที่จะเซ่นไหว้
การเซ่นไหว้จะมีสามเวลา คือ เวลาเช้าประมาณ เจ็ดถึงแปดโมงเช้า ไหว้ทีกง เทพประจำบ้าน และจ้าวฮุ่นกง เวลาประมาณสิบเอ็ดโมงเช้าหรือก่อนเที่ยงวัน ไหว้จ้อกง จ้อม่า บรรพบุรุษทั้งหลาย และเวลาตั้งแต่สิบห้านาฬิกาถึงสิบหกนาฬิกา ไหว้โฮ่วเหี่ยวตี่ ผีไม่มีญาติ
ก่อนที่จะเซ่นไหว้ตามข้อ ๕ เจ้าบ้านจะไหว้ทั้งสามแห่งด้วยขนมและผลไม้เช่นเดียวกับการไหว้ในวันพระคือโฉ่ยอิดจับหง่อ
๔. ของเซ่นไหว้
เวลาเช้าของที่จะเซ่นไหว้สามแห่ง มีดังนี้
๔.๑ ทีกง ของเซ่นไหว้ประกอบด้วย
๑) หมูต้มพอสุก ๑ ชิ้น
๒) หมี่เหลืองดิบเส้นใหญ่
๓) ปูต้ม
๔) กุ้งต้ม
๕) หมึกแห้ง
๖) สุราขาว 1 จอก
๗) กระดาษทองอย่างเดียว ๑ ปึก
เอาของทั้งหมดรวมใส่ในถาดใบเดียวกัน
๔.๒ เทพประจำบ้าน ของเซ่นไหว้มีดังนี้
๑) หัวหมูต้ม ๑ หัว
๒) เส้นหมี่เหลืองดิบเส้นใหญ่
๓) ปูต้ม
๔) กุ้งต้ม
๕) หมึกแห้ง
๖) ไก่ต้มมีหัว ๑ ตัว
๗) สุราขาว ๑ จอก
๘) กระดาษทองอย่างเดียว ๑ ปึก
เอาของทั้งหมดใส่ในถาดใบเดียวกัน
๔.๓ จ้าวฮุ่นกง ให้จัดเช่นเดียวกับชุดการไหว้ทีกง
๕. พิธีการเซ่นไหว้ภาคเช้า
๕.๑ นำของไหว้ไปวางไว้หน้าหิ้งพระที่จะไว้ทั้งสามแห่ง
๕.๒ จุดเทียนหน้าพระบนหิ้งทุกที่ที่เจ้าของบ้านเคารพนับถือ
๕.๓ ธูปแห่งละสามดอก และเพิ่มธูปแห่งละสามดอกสำหรับวางในถาด
๕.๔ เริ่มจากการไหว้ทีกงหน้าบ้าน
คำกล่าว ข้าขอสักการะทีกง ( องค์เง็กเซียนฮ่องเต้ ) ผู้เป็นใหญ่บนสวรรค์ ขออัญเชิญมารับเครื่องสักการะเครื่องเซ่นไหว้ประกอบด้วย ธูปหอม สุราอาหาร ด้วยเทอญ
แล้วปักธูปบนหิ้งสามดอก และในถาดสามดอก
๕.๕ ไหว้เทพประจำบ้าน
คำกล่าว ข้าขอสักการะองค์ปุนเถ่ากง ผู้เป็นเทพประจำบ้าน และอัญเชิญมารับเครื่องสักการะเครื่องเซ่นไหว้ประกอบด้วย ธูปหอม สุรา อาหาร ด้วยเทอญ
แล้วปักธูปบนหิ้งหน้าองค์ปุนเถ่ากงก่อนและปักธูปสามดอกที่ถาดเครื่องเซ่นไหว้ แล้วจึงปักธูปหน้าพระหรือเทพองค์อื่นที่เรียงอยู่บนหิ้งในบ้าน
๕.๖ ไหว้จ้าวฮุ่นกง
คำกล่าว ข้าขอสักการะจ้าวฮุ่นกง ผู้ปกปักรักษาเตาไฟในครัวและผู้อยู่ในบ้านหลังนี้ ได้โปรดมารับเครื่องสักการะประกอบด้วย ธูปหอม สุรา อาหาร ด้วยเทอญ
ปักธูปบนหิ้งสามดอก และในถาดสามดอก
หลังจากเสร็จพิธีการไหว้สามแห่งแล้ว แม่บ้านและลูกหลานนำอาหารที่เซ่นไหว้มาปรุงเป็นอาหารต่างๆ เพื่อเซ่นไหว้บรรพบุรุษและผีไม่มีญาติต่อไป อาหารทั้งหมดแบ่งเป็นสองชุดสำหรับไหว้บรรพบุรุษชุดหนึ่งและโฮ่วเหี่ยวตี่ชุดหนึ่งใส่กะละมังหรือชามใบใหญ่ เพื่อแสดงให้เห็นว่าบรรดาลูกหลานได้จัดทำอาหารมาให้กินทั้งหมดโดยไม่ได้เว้นไว้แม้แต่น้อย เพื่อแสดงความซื่อสัตย์ของลูกหลานต่อบรรพบุรุษและผีไม่มีญาติ ในเวลาประมาณสิบเอ็ดโมงเช้าหรือก่อนเที่ยงวัน อาหารปรุงเสร็จจัดการเตรียมเซ่นไหว้บรรพบุรุษ
๖. การเซ่นไหว้จ้อกง บรรพบุรุษ
จัดการตั้งโต๊ะไว้ในบ้านตรงกับประตูใหญ่ห่างจากขอบประตูพอเดินเข้าออกได้สะดวก แล้วนำกับข้าวคาวหวานทั้งกะละมังของที่จะเซ่นไหว้ออกมา วางเรียงเป็นแถวบนโต๊ะ ดังนี้
๑) กระถางธูปใส่ทรายหรือข้าวสารอาจใช้แก้วน้ำ เทียนวางไว้หน้าสุด
๒) ผลไม้ แตงโม องุ่น แอปเปิล สับปะรด ส้ม เงาะ ลำไย วางแถวที่สอง อาจใช้ ๓ หรือ ๕ หรือ ๗ ชนิด
๓) ขนมหวาน ขนมเข่ง ฮวดโก๊ย อั่งกู้ ข้าวเหนียวกวน แป๊ะทงโก้ ขนมชั้นวางแถวที่สาม ถัดจากนี้เป็นของคาวตามข้อ ๔)
๔) อาหารคาว
(๑) หมี่เหลืองผัด
(๒) ผัดบังกวน( มันแกว ) กับปลาหมึกหั่นฝอย
(๓) ผัดโอเต้า
(๔) ผัดบีฮุยะ (ข้าวสารเหนียวใส่เลือดหมูกับกุ้ยช่าย)
(๕) ปลาทอดมีหัวหาง ๑ ตัว
(๖) หมูเต่าอิ๋ว
(๗) แกงจืดกระดูกซี่โครงหมูกับผักกาดดอง
(๘) แกงเผ็ดไก่กับมันฝรั่ง
(๙) ผัดผักรวมมิตร (ซวนน่ากะหล่ำปลี ก่าเป๊ก ถ้ามี )
(๑๐) โปเปี๊ยะสด
(๑๑) โลบะ จิ้มน้ำจิ้ม
(๑๒) อื่นๆ ตามที่เจ้าบ้านจะนำมาเซ่นไหว้เพิ่มเติม เช่น กุ้งทอด/ต้ม ปูต้ม เป็นต้น
(๑๓) ข้าวสวย ๕ ถ้วย เรียงไว้หลังสุด พร้อมตะเกียบและช้อนกลางตักแกง ๕ ชุด วางข้าง ถ้วยข้าวแต่ละถ้วย
(๑๔) สุราขาว ๕ จอก วางไว้ข้างถ้วยข้าวแต่ละถ้วย พร้อมสุรา ๑ ขวด
(๑๕) น้ำ ๑ แก้ว วางไว้ใกล้ถ้วยข้าว
๖.๑ เทพประจำประตู
เมื่อวางของเซ่นไหว้เสร็จแล้ว ประธานเจ้าของบ้านจุดธูปสามดอกและเทียนที่โต๊ะ เพื่อขออนุญาตเทพประจำประตู ขอให้เปิดประตูเพื่อญาติของเจ้าของบ้านที่จะได้รับเชิญให้เข้ามากินของเซ่นไหว้
คำกล่าวขออนุญาตเทพประจำประตู ข้าขอสักการะ เทพหมึงค่าว(หมึงจ้อ)และหมึงโป๋ ผู้ปกปักรักษาประตูบ้านหลังนี้ ได้โปรดมารับเครื่องสักการะประกอบด้วย ธูปหอม สุรา อาหาร ด้วยเทอญ และขอให้เปิดประตูให้บรรดาบรรพบุรุษของข้ามารับเครื่องเซ่นไหว้ด้วย
พร้อมกับกล่าวว่า ขอให้บรรดาสุราอาหารทั้งหลายเหล่านี้เป็นอาหารทิพย์
๖.๒ ประธานจุดธูปสามดอกเพื่ออัญเชิญบรรพบุรุษมารับเครื่องเซ่นไหว้ ให้ ยืนหลังโต๊ะในสุด
คำกล่าวอัญเชิญบรรพบุรุษ ข้าขออัญเชิญ จ้อกง จ้อกงม่า จ้อกงโป๋ และบรรดาญาติที่ล่วงลับทั้งหลาย โปรดมารับเครื่องสักการะ ประกอบด้วย ธูปหอม สุรา อาหาร ด้วยเทอญ
หมายเหตุ อาจจะเอ่ยชื่อ ญาติผู้ล่วงลับทั้งหมด ต่อด้วยข้อความว่า และบรรดาญาติที่ล่วงลับทั้งหลายที่ไม่ได้เอ่ยชื่อ
๖.๓ รอสัก ๕ - ๑๐ นาที ปัวะโป๊ย ถามว่า จ้อกง จ้อกงม่า จ้อกงโป๋ และญาติที่ล่วงลับทั้งหลายมารับเครื่องเซ่นไหว้หรือยัง หากโป๊ยขึ้นคว่ำอันหงายอันแสดงว่า มากินแล้ว หากขึ้นหงายทั้งสองหรือคว่ำทั้งสองแสดงว่ายังไม่มา ให้รอประมาณ ๕ นาทีแล้วถามใหม่ หากยังไม่มาให้นำโป๊ยไปรมควันธูปเวียนสามรอบแล้วถามใหม่ แต่บางตำนานกล่าวว่า การปัวะโป๊ยต้องสามครั้ง คือ ครั้งแรก หงายหมด หรือ คว่ำหมดอย่างเดียวถือเป็นหนึ่งครั้ง ครั้งที่สอง คว่ำหมดหรือหงายหมด แต่ไม่ซ้ำกับครั้งแรก ครั้งที่สาม คว่ำหนึ่งหงายหนึ่ง จึงถือว่าใช้ได้
๖.๔ ถ้ามารับเครื่องสังเวยแล้ว ให้รอสัก ๒๐ - ๓๐ นาที แล้วปัวะโป๊ยถามว่า กินอิ่มหรือยัง หากขึ้นคว่ำอันหงายอันแสดงว่ากินอิ่มแล้ว หากคว่ำสองหรือหงายสองอันแสดงว่ายังกินไม่เสร็จให้รอสักสิบนาทีแล้วถามใหม่ หรือใช้แบบ
๖.๕ ถ้ากินอิ่มแล้ว ให้ยัวะกิม นำกระดาษเงินกระดาษทองไปเผาที่หน้าโต๊ะเซ่นไหว้ ให้หาภาชนะที่ไม่ได้ใช้แล้วมารองรับด้วย เอาธูปทั้งหมดและเทียนในกระถางเผารวมกันไป
๖.๖ ตักกับข้าวอย่างละครึ่งช้อนใส่ลงในกองไฟ
๖.๗ เอาสุราขาวบนโต๊ะนั่นแหละ ๑ จอก รดเวียนรอบกองไฟ เป็นเสร็จพิธี
๖.๘ ไม่ต้องจุดประทัดไล่บรรพบุรุษหลังจากเสร็จพิธี
๗. การเซ่นไหว้โฮ่วเหี่ยวตี่ ผีไม่มีญาติ
ผีเปรตทั้งหลายที่ไม่มีญาติหรือญาติมิได้จัดทำเครื่องเซ่นไหว้ เจ้าบ้านจะนำของเซ่นไหว้ ดังนี้
๗.๑ เวลาไหว้ประมาณ ๑๕.๐๐ ๑๖.๐๐ น.
๗.๒ ตั้งโต๊ะนอกบ้านบริเวณหลังบ้าน
๗.๓ จัดอาหารคาวหวานที่ได้เตรียมไว้แล้วตามข้อ ๕.๖ ออกมาวางเรียงบนโต๊ะเหมือนกับการไหว้บรรพบุรุษ
๗.๔ ข้าวสวย ๓ ถ้วย สุรา ๓ จอก
๗.๕ จุดเทียนและธูปหนึ่งมัด ใช้ธูปปักที่อาหารชามละหนึ่งดอกทุกชาม เจ้าบ้านเตรียมไว้สามดอก ธูปที่เหลือให้วางไว้ที่โต๊ะไหว้
๗.๖ อัญเชิญโฮ่วเหี่ยวตี่มารับเครื่องเซ่นไหว้
คำกล่าวอัญเชิญโฮ่วเหี่ยวตี่ ข้าขอสักการะโฮ่วเหี่ยวตี่ทั้งหลายที่ไม่ได้รับเชิญ ขออัญเชิญมารับเครื่องสักการะ ประกอบด้วย ธูปหอม สุรา อาหาร ด้วยเทอญ
๗.๗ รอสักประมาณ ๕ - ๑๐ นาที ปัวะโป๊ยถามว่ามากินหรือยัง ถ้าคว่ำอันหงายอันแสดงว่ามากินกันแล้ว ถ้าคว่ำสองหรือหงายสองอันแสดงว่ายังไม่ได้มากินให้รอสักระยะแล้วถามใหม่
๗.๘ ถ้ามากินแล้ว รอสัก ๒๐ - ๓๐ นาที ปัวะโป๊ยถามว่ากินอิ่มหรือยัง ถ้าคว่ำอันหงายอันแสดงว่ากินอิ่มแล้ว ถ้าหงายสองหรือคว่ำสองแสดงว่ายังไม่อิ่มให้รอสักพัก แล้วถามใหม่ หรือใช้แบบข้อ ๖.๓ ก็ได้
๗.๙ หากกินอิ่มแล้ว ให้เผากระดาษเงินกระดาษทองพร้อมธูปเทียนทั้งหมด
๗.๑๐ เอาสุราหนึ่งจอกรดเวียนรอบกองไฟที่เผานั้น
๗.๑๑ เอาอาหารประมาณอย่างละครึ่งช้อนที่ไหว้นั้นใส่ในกองไฟ
๗.๑๒ จุดประทัดหรือไม่แล้วแต่เจ้าของบ้าน เป็นเสร็จพิธี
๓. วันไหว้วันขึ้นปีใหม่
วันที่ ๑ ค่ำ เดือน ๑ เป็นวันขึ้นปีใหม่ ช่วงเช้าเรียกว่าไหว้ เฉ่งเต๋ ด้วยการนำผลไม้ตามที่กำหนดมาวางไว้หน้าแท่นบูชาจุดธูปเทียนไหว้เช่นเดียวกับวันพระ
๔. วันรับเสด็จเทพเจ้าลงมาจากสวรรค์
ในวันที่ ๔ ค่ำ เดือน ๑ ทำการเชี่ยสีนเชิญเทพเจ้าจ้าวฮุ่นกง เสด็จลงมาจากสวรรค์เข้าประทับยังหิ้งบูชาในครัวตามเดิม โดยไหว้ตอนเช้า ของไหว้มีดังนี้
๑) ผลไม้ ตามที่กำหนด
๒) เต่เหลี่ยว
๓) โอเด้า ของคาวใช้แป้งมันประกอบเพื่อเป็นกาวติดเงินทองที่จ้าวฮุ่นกงนำมาให้จากสวรรค์
๔) น้ำชา
๕) กระดาษไหว้เจ้า
๕. วันไหว้เทพเจ้าไฉเสิน
วันที่ ๕ ค่ำ เดือน ๑ เป็นวันไหว้เทพเจ้าไฉเสิน เทพเจ้าแห่งโชคลาภ เสด็จลงมาจากสวรรค์ จะไหว้ในเวลากลางคืนและตามฤกษ์ยามของแต่ปี ในปี ๒๕๕๑ นี้ไหว้เวลา ๒๓.๐๐ - ๒๔.๕๙ น. โดยวางโต๊ะไว้กลางแจ้ง ของไหว้ มี ผลไม้ เต่เหลี่ยว ขนมอี๋ น้ำชา กระดาษไหว้เจ้า
๖. วันไหว้เทวดาหรือวันแซยิดหยกอ๋องส่องเต่
วันที่ ๙ ค่ำ เดือน ๑ เป็นวันคล้ายวันประสูติของเทพหยกอ๋องส่องเต่ โดยจะไหว้ตั้งแต่เวลาหลังเที่ยงคืนและนับเป็นวันที่ ๙ ค่ำไปแล้ว ส่วนใหญ่เวลาประมาณตี ๒ ตี ๓ จะประกอบพิธีไหว้ ด้วยการนำโต๊ะไปวางไว้หน้าบ้านกลางหาว รองขาโต๊ะให้สูง แล้วใช้อ้อย ๑ คู่ มัดเสาโต๊ะข้างละต้น ใช้กระดาษแดงแกะลวดลายปิดตามข้ออ้อยให้สวยงามพร้อมพู่กระดาษห้อยที่ข้อบนสุดของต้นอ้อย หน้าโต๊ะคาดด้วยโต๊ะอุ๋ยผ้าเย็บตัดปะเป็นรูปสิงโตหรือรูปโป๊ยเซียนหรือรูปอื่นๆ ห้อยลงมาตามที่เห็นตามศาลเจ้าบางแห่ง
ของที่จะเซ่นไหว้
๑) ผลไม้ ตามจำนวนตามที่กำหนด ใส่จาน
๒) เต่เหลี่ยว เป็นขนมแห้งได้แก่ จันอับ(ตั่งโก้ย) ถั่วตัด ถั่วลิสงเคลือบน้ำตาล ข้าวพอง(บี้พ่าง) ขนมก้านบัว ทุกอย่างใส่จาน
๓) ขนมสด ได้แก่ ขนมแดงทั้งสามคือ อั่งอี๋ อั่งขั้น อั่งกู้ ขนมเข่ง หวดโก้ย ข้าวเหนียวกวน(บี้โก้)และไข่ไก่ต้มย้อมสีแดงจำนวนไข่เท่ากับจำนวนบุตรของเจ้าของบ้านวางปักไว้บนข้าวเหนียวกวน หากมีบุตรหลายคน ข้าวเหนียวกวนคงใช้จานใบใหญ่ ทุกอย่างใส่จานเตรียมไว้
หากเจ้าบ้านทำขนมเข่งเอง ก่อนเอาไปนึ่งจะต้องจุดธูปเทียนหิ้งเทพเจ้าแห่งเตาไฟคือ จ้าวฮุ่นกงก่อน บอกท่านว่า ขอยืมเตานึ่งขนมเข่ง เพื่อเอาไปไหว้เทพเจ้าในวันปีใหม่ คนไว้ทุกข์ห้ามทำขนมเข่งและห้ามเข้าไปมองดูเตานึ่งขนมเข่ง หากเขาออกไปแล้ว เจ้าบ้านจะเอาข้าวสารกับเกลือซัดรอบๆเตาหรือบริเวณเตา เพื่อไล่ผีที่ตามมากับคนไว้ทุกข์นั้น เพื่อให้ขนมเป็นของบริสุทธิ์
๔) หลักฉ่าย ผักแห้งหกชนิด ได้แก่ เห็ดหูหนู(บกหนี้) ฟองเต้าหู้(เต๊กก๊ากี๊)) เห็ดหอม(เหี่ยวก้อ) วุ้นเส้น(ตั่งหุ้น) ดอกไม้จีน(กิ่มเจี้ยม) หมี่สั่ว ถั่วลิสง พุดทราแดงแห้ง(หั่งโจ้) ผักกาดเค็ม(ฉ้ายกั้ว) เลือกหกชนิดใส่จาน
๕) ใบชาใส่จานหนึ่งจาน
ของทุกอย่างที่ใส่จานตั้งแต่ข้อ ๑) ถึงข้อ ๖) ใช้กระดาษแดงตัดเป็นรูปวงกลมเป็นแฉกเป็นเหลี่ยมประดิษฐ์ตกแต่งเพื่อความสวยงาม วางบนของดังกล่าวทุกจาน
๖) ธูปเทียน นิยมใช้ขนาดกลางและขนาดใหญ่
๗) กระดาษทอง มักใช้ขนาดใหญ่พับเป็นรูปต่างๆ
๘) อ้อยขาว ๑ คู่ ทั้งต้นพร้อมใบและราก
๙) บางแห่งจะจัดของคาว เรียกว่า หง่อเส้ง เป็นของคาวห้าอย่างได้แก่ ไก่ต้มมีหัว ๑ ตัว หมูต้ม ๑ ชิ้น ปลาหมึกแห้ง ๑ ตัว หมี่เหลืองเส้นใหญ่ สุรา ๑ จอก กระดาษทองอย่างเดียว พร้อมธูปเทียน โดยวางโต๊ะต่างหากจากโต๊ะไหว้หยกอ๋องส่องเต่ นัยว่าเพื่อไหว้นายพลทหารที่ติดตามหยกอ๋องส่องเต่ลงมา บางตำนานว่า จัดไว้เพื่อหยกอ๋องส่องเต่จะได้พระราชทานพระสหายของพระองค์ที่เสวยของคาว เพราะพระองค์เสวยอาหารเจ
พิธีกรรมการไหว้
เมื่อเจ้าของบ้านได้กำหนดเวลาว่าจะไหว้ช่วงใด เมื่อก่อนถึงกำหนดเวลาดังกล่าว ในช่วงกลางวันและตอนค่ำจะเตรียมของทั้งหมดใส่จานตกแต่งเรียบร้อย ถึงเลายกโต๊ะวางตามที่กำหนด นำของต่างๆที่เตรียมไว้มาวาง
โดยมีการวางเรียงบนโต๊ะ ตามลำดับจากนอกด้านหน้าโต๊ะเข้าไปหลังโต๊ะ ตามกลุ่มของที่จะไหว้และเครื่องประกอบการไหว้ ดังนี้
แถวแรก จอกน้ำชา ๕ จอก
แถวที่สอง เหี่ยวหลอ(กระถางธูป) และเชิงเทียน
แถวที่สาม กลุ่มผลไม้
แถวที่สี่ กลุ่มขนม
แถวที่ห้า กลุ่มหลักฉ่าย
เมื่อวางเตรียมข้าวของเสร็จแล้ว เจ้าบ้านจุดเทียนคู่จุดธูปสามดอก รินน้ำชา ถือธูปไปยืนหลังโต๊ะ พร้อมกล่าวอัญเชิญ เทพเจ้าหยกอ๋องส่องเต่
คำเชิญ ข้าขออัญเชิญเทพเทียนกงและเทียนกงม่า หยกอ๋องส่องเต่ โปรดมารับของสักการะของเสวยบนโต๊ะนี้ ประกอบด้วย ของหอม เฉ่งเต๋ ผลไม้ ขนมต่างๆอันมี เต่เหลี่ยว อั่งกู้ หวดโก้ย บี้โก้ หลักฉ่าย และขอให้ข้าและครอบครัวลูกหลานมีความสุข มีความร่ำรวยด้วยทรัพย์สินเงินทองตลอดปีด้วยเทอญ
๗. วันไหว้วันที่ ๑๕ ค่ำ เดือน ๑
ไหว้ช่วงเช้า ของไหว้มีผลไม้ตามกำหนด ถ้าหากผู้ที่เคารพนับถือ เทพส่ามก้วนไต่เต่ หรือ ซานกวน เทพเจ้าสูงสุดสามองค์ซึ่งเป็นวันคล้ายวันประสูติก็จะไหว้วันนี้ด้วย
๘. กิจกรรมอื่นๆ
อั่งเปาคือ เงินขวัญถุงที่บิดามารดาบรรดาญาติพี่น้องนำมาแจกให้แก่เด็กๆ เพื่อความเป็นสิริมงคล ซึ่งเด็กๆจะเก็บเอาไว้เป็นขวัญถุงหรือเอาไปซื้อของที่ตนเองอยากได้ ไม่นิยมแจกซองอั่งเปาให้แก่คนที่มีเงินเดือนทำงานได้แล้ว ดังนั้นคนที่มีเงินเดือนมีรายได้จึงต้องแจกอั่งเปาให้แก่ลูกหลานเด็กๆทั้งหลาย หรือนำเงินใส่ซองให้บิดามารดาหรือผู้มีอุปการคุณในช่วงที่ตนยังอยู่ในวัยเด็กเอาไว้ใช้จ่าย เพื่อแสดงความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ
กลุ่มเชิดสิงโตจะผ่านไปตามบ้านต่างๆเพื่อเชิดสิงโตหน้าบ้าน เจ้าของบ้านจะให้ซองอั่งเปา ถือว่านำโชคลาภมาให้
ในวันต่างๆที่นิยมและไม่นิยมกระทำ เช่น
๑. สวมเสื้อผ้าใหม่ๆเน้นสีแดง
๒. วันที่ ๒ ค่ำ ของเดือน ๑ บรรดาผู้ที่มีเหย้าเรือนแยกย้ายออกจากบ้านใหญ่ ต่างกลับมาเยี่ยมบิดามารดา
๓. วันที่ ๓ ๔ ค่ำ ของเดือน ไม่นิยมไปเยี่ยมญา๖ เพราะถือว่า อาจมีการทะเลาะกัน บางท้องถิ่นถ้ามีคนตายล่วงแล้ว ๓ ปี จะไปคารวะที่หลุมศพแทนที่จะไปเยี่ยมบ้าน
๔. วันที่ ๕ ของเดือน บางท้องถิ่นจะรับประทาน เจี่ยวจื่อ คล้ายหมี่เกี๊ยว
๕. วันที่ ๙ ค่ำ ไหว้หยกอ๋องส่องเต่
๖. วันที่ ๑๕ ค่ำ วัน เอวี๋ยนเจียวเจ๋ย หรือ ซื่ออู่เหว่ย หรือ ซังเอวี๋ยน วันเทศกาลโคมไฟ
บรรดาญาติพี่น้องที่อยู่ต่างถิ่นต่างพากันมาเยี่ยมและกินโต๊ะเลี้ยงกันสนุกสนาน เพราะอาหารหลายอย่างหลากชนิดที่ไม่สามารถจะทำกินหรือซื้อกินได้ในวันธรรมดา ไม่ว่าปลาตัวใหญ่ หมู เป็ด ไก่ หรือบางครอบครัวไปท่องเที่ยวต่างเมืองต่างประเทศไปเยี่ยมญาติที่จีน ตามทุนทรัพย์และเวลา ในปีหนึ่งมีครั้งหนึ่งของชีวิตตนและครอบครัว แล้วจึงเริ่มทำงานต่อไป
สรุปแล้วกิจกรรมที่ควรทำและไม่ควรทำตามแต่ละท้องถิ่นที่ยึดถือปฏิบัติ ซึ่งมีความเหมือนและความต่าง ไม่มีใครถูกใครผิด มีดังนี้
โชคดีปีใหม่
๑. เปิดประตูหน้าต่างในวันขึ้นปีใหม่เพื่อรับโชคลาภและความสุขกายสุขใจของครอบครัว
๒. เปิดสวิตช์ไฟฟ้าตอนหลังเที่ยงคืน เพื่อไล่ภูตผีปีศาจออกจากบ้าน บางบ้านอาจจุดธูปเทียนบูชาพระในบ้าน
๓. รับประทานของหวานเพื่อให้มีความหวานชื่นตลอดปี
๔. ทำความสะอาดบ้านตั้งแต่หลังคาจนถึงพื้นบ้านทุกพื้นที่ในบ้านบริเวณบ้าน
๕. เริ่มวันแรกของวันปีใหม่อยากมีโชคลาภบางคนเสี่ยงดวง
๖. สวมรองเท้าแตะใหม่เพื่อเตะความชั่วร้ายออกไปโดยเฉพาะคนที่ถูกนินทาว่าร้ายบ่อยๆ
๗. อาบน้ำชำระกายให้สะอาดหมดจดก่อนเที่ยงคืนวันปีใหม่ วันรุ่งขึ้นจะได้โชคลาภ
อับโชค
๑. ซื้อรองเท้าใหม่ไม่ดี เพราะมีความหมายว่า ผีร้าย
๒. ซื้อกางเกงใหม่ไม่ดี เพราะคำว่า กางเกง ออกเสียงว่า ขมขื่น
๓. ตัดผม ไม่ดี เหมือนเอาทรัพย์ออกจากตัวเอง เพราะเสียงคำว่า ผม เหมือนเสียงว่า ทรัพย์สมบัติร่ำรวย
๔. ห้ามกวาดขยะ ถูบ้าน ในช่วงวันที่ ๑ ค่ำ เพราะจะกวาดเอาโชคลาภออกไปหมด ถ้าจำเป็นต้องกวาดเข้าตัวบ้านซุกไว้ก่อน
๕. วันแรกๆของวันปีใหม่ ห้ามพูดถึงเรื่อง ความตาย
๖. ซื้อหนังสือในวันปีใหม่ ไม่ดี เพราะเสียงหนังสือ หมายถึง สูญหาย
ซินเหนียนก้วยเล่อ กงซีฝ่าไฉ
ซินหนี่ก้วยล็อก เกียงฮีหวดไช้
******************
: สมบูรณ์ แก่นตะเคียน ๑๖ มกราคม ๒๕๕๑
Title : Chinese New Year in Phuket.
: Somboon Kantakian
|