พระยาอินทรอากร (อิน ไกรฤกษ์)
.jpg)
พระยาอินทรอากร เดิมชื่อ อิน แซ่หลิม เป็นชาวฮกเกี้ยน ได้อพยพเข้ามาทำมาหากินที่กรุงศรีอยุธยาตอนปลายพร้อมบิดาและพี่ชายชื่อ เริก
พระยาอินทรอากร ( อิน หรือ โง้ว๑ แซ่หลิม ) ท่านมีบุตรธิดารวม ๗ คน คือ นายเสง นายมิน เจ้าจอมมารดาอำภาในรัชกาลที่ ๒ บุตรีชื่อไม้เทศ บุตรีชื่อเถาวัลย์ บุตรีชื่อกลีบ นายมุ้ยหรือนุ้ย
พระยาอินทรอากร(อิน แซ่หลิม) มีพี่ชายชื่อ เริก แซ่หลิม ทั้งสองพี่น้องพร้อมบิดาแซ่หลิม ได้อพยพมาจากมณฑลฮกเกี้ยน ทำมาค้าขายค้าสำเภาที่กรุงศรีอยุธยาสมัยสมเด็จพระที่นั่งสุริยามรินทร์ เมื่อกรุงศรีอยุธยาแตกพ.ศ. ๒๓๑๐ นายเริกได้เข้ารับราชการในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้รับบรรดาศักดิ์เป็น ขุนพจนาพิจิตร ท่องสื่อใหญ่ หรือ ขุนท่องสื่ออักษร ส่วนนายอินได้ค้าสำเภาจนมีฐานะร่ำรวยเป็นเศรษฐี ตลอดมาจนถึงรัชกาลที่ ๒ จึงได้รับบรรดาศักดิ์ เป็น พระอินทรอากร ถึงรัชกาลที่ ๓ ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์ เป็น พระยาอินทรอากร
จากหนังสือ เรื่องของเจ้าพระยามหิธร พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าพระยามหิธร (ลออ ไกรฤกษ์) พ.ศ. ๒๔๙๙ หน้า๒ กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า
...ผู้ที่เป็นต้นแรกอันแท้จริงของสกุลไกรฤกษ์นั้นเป็นจีน ชื่อใดไม่ปรากฏๆแต่ว่า แซ่หลิม ข้าพเจ้าจึงขอเรียกท่านว่า นายหลิม เพื่อความสะดวก ชาวจีนจะบอกได้ทันทีว่า คนแซ่หลิมมีเชื้อชาติเป็นชาวฮกเกี้ยน เพราะคำว่า หลิม เป็นคำที่ออกเสียงอย่างสำเนียงฮกเกี้ยน ตรงกับที่จีนกลางออกเสียงว่า ลิน หรือ ลิ่น และเมื่อนำภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์มาพิจารณาประกอบกับภาษาศาสตร์ด้วยแล้ว ความเข้าใจเช่นนี้ไม่น่าจะผิดพลาด เพราะพวกจีนที่มาตั้งรกรากในเมืองไทยและแหลมมลายูตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี และสมัยแรกๆแห่งกรุงรัตนโกสินทร์นั้น เป็นที่รู้กันทั่วไปว่า ส่วนมากเป็นจีนฮกเกี้ยน ซึ่งอยู่ทางภาคใต้ของประเทศจีน อาจเดินทางมาประเทศไทยและแหลมมลายูได้สะดวก ตามตำนานที่ได้อ้างไว้ข้างต้น ปรากฏว่า นายหลิม ได้มาตั้งทำมาหากินในประเทศไทยในปลายสมัยที่กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี นายหลิมนี้มีบุตรชาย ๒ คนๆหนึ่งชื่อ เริก อีกคนหนึ่งชื่อ อิน เพราะเหตุที่คำว่า เริก และคำว่า อิน เป็นคำไทย จึงสันนิษฐานว่า นายเริกและนายอินนั้นเกิดในเมืองไทยทั้งสองคน และโดยที่สมัยนั้นพวกจีนที่ออกไปหากินนอกประเทศ มิได้นำสตรีของตนออกไปด้วย จึงสันนิษฐานต่อไปว่า ทั้งนายเริกและนายอินมีมารดาเป็นไทย... ๑
นายอิน มิได้รับราชการเหมือนพี่ชาย แต่ทำมาค้าขายเรือสำเภาและห้างจนมีฐานะร่ำรวยเป็นเศรษฐี ชาวบ้านทั่วไปเรียกท่านว่า เจ้าสัวเตากระทะ สืบเนื่องจากที่ท่านได้ใช้เตาหุงข้าวต้มข้าวเลี้ยงคนเป็นจำนวนมาก ได้แก่กลาสีเรือและกรรมกรขนของที่ท่าเรือ รัชกาลที่ ๒ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์ชั้น พระ เป็น พระอินทรอากร คงได้รับราชการเป็นนายอากรในกรมท่า ต่อมาเมื่อรัชกาลที่ ๓ ได้ทรงพัฒนาประเทศ ทรงเห็นว่า พระอินทรอากร เป็นพ่อค้าที่ค้าขายกับต่างประเทศ สมัยเมื่อรัชกาลที่ ๓ ยังทรงดำรงอิสริยยศเป็นพระเจ้าลูกเธอ ก็ได้ทรงค้าขายมีเรือสำเภาไปต่างประเทศด้วย ทรงรู้จักมักคุ้นกับพระอินทรอากร เมื่อได้เสด็จขึ้นเสวยราชย์แล้ว ปรากฏว่าการจัดการเก็บภาษีเข้าท้องพระคลังได้น้อย ไม่พอกับค่าใช้จ่าย จึงทรงมีพระราชดำรัสให้พระอินทรอากรเข้าเฝ้า เพื่อปรึกษาราชการด้านพระคลัง ว่าจะดำเนินการอย่างใดดี พระอินทรอากรกราบทูลให้เปิดบ่อนการพนัน ให้มีนายอากรผูกขาดดำเนินการ พระองค์ทรงเห็นชอบด้วย จึงโปรดฯให้เปิดโรงบ่อนเบี้ยและโรงหวยขึ้น และโปรดฯให้พระอินทรอากร เป็นนายอากรบ่อนเบี้ยด้วย
ต่อมาไม่นาน การแก้ปัญหาท้องพระคลังก็สำเร็จ จึงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระยาอินทรอากร ส่วนนายอากรโรงหวยนั้น พระยาอินทรอากรได้กราบบังคมทูลให้พ่อค้าจีนคนหนึ่ง สกุลแซ่หลิมเช่นเดียวกับท่าน และเป็นญาติกัน มาจากเมืองจีนมณฑลฮกเกี้ยนด้วยกัน ให้เป็นนายอากร พระองค์ก็ทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีบรรดาศักดิ์เป็น ขุนพัฒนอากร ตำแหน่งนายอากรโรงหวย ท่านผู้นี้เป็นต้นสกุล พหลโยธิน นั่นเอง
พระยาอินทรอากร (อิน ไกรฤกษ์ ) จึงเป็นคนสกุลแซ่หลิมที่สำคัญคนหนึ่ง
*********
หมายเหตุ
๑ สำหรับผม ผู้เขียนขอมีความเห็นต่าง ในฐานะที่สืบเชื้อสายมาจากชาวฮกเกี้ยน ธรรมเนียมชาวฮกเกี้ยนที่ภูเก็ตสมัยก่อน บุตรชายหญิงจะตั้งชื่อจีนทุกคน เมื่อไปโรงเรียน บางคนจึงเปลี่ยนเป็นชื่อไทย แซ่จีน คำว่า เริก กับ อิน น่าจะเป็นชื่อสำเนียงฮกเกี้ยน คำว่าเริก น่าจะเพี้ยนมาจากคำว่า ลก เรียกว่า หลิมลก ซึ่งชื่อนี้มีคนตั้งกันพอสมควร ภาษาจีนกลางว่า หลินลู่ และคำว่า อิน ก็เช่นเดียวกัน น่าจะมาจากสำเนียงฮกเกี้ยนว่า อิ้น เป็น หลิมอิ้น เสียง อิ้น ไม่ตรงเสียทีเดียว จีนกลางว่า หลินอิน ในประวัติเรียกเป็นภาษาจีนอีกชื่อว่า โง้ว ซึ่งเป็นสำเนียงแต้จิ๋ว น่าจะเป็น หงอหรือหง่อ สำเนียงฮกเกี้ยนมากกว่า
|