พระยาไกรโกษา (เริก ไกรฤกษ์

พระยาไกรโกษา เดิมชื่อ เริก แซ่หลิม เป็นต้นสกุล ไกรฤกษ์ เป็นชาวฮกเกี้ยน ได้อพยพเข้ามาทำมาหากินที่กรุงศรีอยุธยาพร้อมบิดาและน้องชายชื่อ อิน
จากหนังสือ เรื่องของเจ้าพระยามหิธร พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าพระยามหิธร (ลออ ไกรฤกษ์) พ.ศ. ๒๔๙๙ กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า
...ผู้ที่เป็นต้นแรกอันแท้จริงของสกุลไกรฤกษ์นั้นเป็นจีน ชื่อใดไม่ปรากฏๆแต่ว่า แซ่หลิม ข้าพเจ้าจึงขอเรียกท่านว่า นายหลิม เพื่อความสะดวก ชาวจีนจะบอกได้ทันทีว่า คนแซ่หลิมมีเชื้อชาติเป็นชาวฮกเกี้ยน เพราะคำว่า หลิม เป็นคำที่ออกเสียงอย่างสำเนียงฮกเกี้ยน ตรงกับที่จีนกลางออกเสียงว่า ลิน หรือ ลิ่น และเมื่อนำภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์มาพิจารณาประกอบกับภาษาศาสตร์ด้วยแล้ว ความเข้าใจเช่นนี้ไม่น่าจะผิดพลาด เพราะพวกจีนที่มาตั้งรกรากในเมืองไทยและแหลมมลายูตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี และสมัยแรกๆแห่งกรุงรัตนโกสินทร์นั้น เป็นที่รู้กันทั่วไปว่า ส่วนมากเป็นจีนฮกเกี้ยน ซึ่งอยู่ทางภาคใต้ของประเทศจีน อาจเดินทางมาประเทศไทยและแหลมมลายูได้สะดวก ตามตำนานที่ได้อ้างไว้ข้างต้น ปรากฏว่า นายหลิม ได้มาตั้งทำมาหากินในประเทศไทยในปลายสมัยที่กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี นายหลิมนี้มีบุตรชาย ๒ คนๆหนึ่งชื่อ เริก อีกคนหนึ่งชื่อ อิน เพราะเหตุที่คำว่า เริก และคำว่า อิน เป็นคำไทย จึงสันนิษฐานว่า นายเริกและนายอินนั้นเกิดในเมืองไทยทั้งสองคน และโดยที่สมัยนั้นพวกจีนที่ออกไปหากินนอกประเทศ มิได้นำสตรีของตนออกไปด้วย จึงสันนิษฐานต่อไปว่า ทั้งนายเริกและนายอินมีมารดาเป็นไทย... ๑
ภายหลังจากที่กรุงศรีอยุธยาแตกเมื่อพ.ศ. ๒๓๑๐แล้ว สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ปราบดาภิเษกและทรงครองราชย์ระหว่างพ.ศ.๒๓๑๑ ๒๓๒๔ ทรงตั้งกรุงธนบุรีเป็นราชธานี ในช่วงนั้นมีเหล่าบรรดาชาวจีนได้เข้ารับราชการเป็นจำนวนมาก นายเริกจึงเข้ารับราชการที่กรมท่า ที่มีหน้าที่ติดต่อกับต่างประเทศด้านพระราชไมตรีและการค้าขาย นายเริกได้รับบรรดาศักดิ์เป็น ขุนท่องสื่ออักษร ตำแหน่งเสมียนกรมท่าซ้าย ฝ่ายจีน นอกจากตำแหน่งขุนท่องสื่อแล้ว ยังมีตำแหน่ง ขุนท่องสมุด มีหน้าที่แปลเอกสารจากภาษาจีนเป็นภาษาไทย และภาษาไทยเป็นภาษาจีน
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดฯให้ พระยาพิพัทธโกษา เป็นผู้เขียนรับสั่ง และให้กรมท่าซ้ายรับผิดชอบแต่งพระราชสาสน์ ออกไปจิ้มก้องฮ่องเต้เฉียนหลงหรือฮ่องเต้ชิงเกาจง แห่งราชวงศ์ชิง เมื่อพ.ศ. ๒๓๒๔ กรมท่าซ้ายจึงจัดขุนนางมี ราชทูต อุปทูต ตรีทูต ท่องสื่อ ปันสื่อ สารวัตรใหญ่น้อย นายอำเภอ ล้าต้า ต้นหน ไต้ก๋ง กรมการคนงาน นายสำเภา ฯลฯ มีเรือทรงพระราชสาสน์ เรือสำเภาหู ราชทูตครั้งนี้คือ พระยาสุนทรภัย อุปทูตคือ หลวงพิไชยเสน่หา ตรีทูตคือ หลวงพจนาพิมล ฝ่ายล่ามแปลคือ ขุนพจนาพิจิตร ท่องสื่อใหญ่ หมื่นพิพิธวาจา ปันสื่อ นายทองคำเป็นอาลักษณ์จารึกพระราชสาสน์ลงแผ่นทอง จีนจ่ง เป็นผู้ชุบพระราชสาสน์ คำหับเป็นอักษรจีนลงกระดาษเหลือง แล้วปิดตราประจำครั่ง
หลวงพิไชยเสน่หา อุปทูต ต่อมาคือ พระเจ้าหลานเธอของสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และขุนพจนาพิจิตร ท่องสื่อใหญ่ ต่อมาก็คือ พระยาไกรโกษา เริก นั่นเอง
พระราชสาสน์มีเนื้อหาทั้งหมด ๘ เรื่อง คือ เรื่องร้องเรียนจงตกหมู่อี้ผู้สำเร็จราชการมณฑลฮกเกี้ยนเรียกเก็บเงินจากราชทูต เรื่องจงตกหมู่อี้บังคับให้ราชทูตกลับด้วยสำเภาจีน การเสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. ๒๓๑๐ เรื่องประมงจีนถูพายุพัดเข้าฝั่งไทย เรื่องจีนฮ่อ เรื่องการก่อสร้างวังใหม่ขอซื้อของไม่ต้องห้ามจากกว่างตง ขอต้นหนจีนควบคุมสำเภาไทยไปบรรทุกทองแดงที่ญี่ปุ่น ๒ ลำ สุดท้ายเป็นรายการเครื่องราชบรรณาการ
พระยาสุนทรภัย ราชทูตได้ถึงแก่กรรม อุปทูตคือหลวงพิไชยเสน่หารับผิดชอบแทน
ข้างสยามประเทศ ปรากฏว่า เกิดการจลาจลขึ้น พระยาสรรค์ยกทัพเข้าเมืองหลวง ข้างสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกกับเจ้าพระยาสุรสีห์ยกทัพไปปราบเขมร จึงรีบยกทัพกลับกรุง แล้วจับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชสำเร็จโทษเสีย สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกทรงปราบดาภิเษกเป็น สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เมื่อพ.ศ. ๒๓๒๕
ในปีเดียวกันนั้น อุปทูต คือ หลวงพิไชยเสน่หาหรือนายฤทธิ์ และคณะได้เดินทางกลับจากกรุงปักกิ่ง แล้วโปรดเกล้าฯให้นายฤทธิ์เป็น สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนรินทรนเรศวร ส่วนขุนพจนาพิจิตรหรือขุนท่องสื่อโปรดฯให้รับราชการต่อไป และรับสั่งให้ตัดเปียเสีย ไว้ทรงผมแบบไทย ภายหลังได้เลื่อนบรรดาศักดิ์สูงขึ้นเป็น พระยาไกรโกษา ตำแหน่ง เสนาบดีจตุสดมภ์ในสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ซึ่งมีอยู่ ๔ ตำแหน่งคือ พระยามนเทียรบาล พระยากลาโหม พระยาจ่าแสนยากร และพระยาไกรโกษา
พระยาไกรโกษา (เริก) ซึ่งนามสกุลเดิม แซ่หลิม ท่านเป็นต้นสกุล ไกรฤกษ์ และเป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งของสกุลแซ่หลิน
**********
ผู้สืบเชื้อสายสกุลไกรฤกษ์ที่สำคัญ เช่น
พระยาโชฎึกราชเศรษฐี (ทองจีน ไกรฤกษ์)
หลวงเดชนายเวร (สุด ไกรฤกษ์)
หลวงแก้วอายัติ (อ้น ไกรฤกษ์)
พระยาศรีสิงหเทพ (ทัด ไกรฤกษ์)
พระมงคลรัตนราชมนตรี (ช่วง ไกรฤกษ์)
พระยาบุรุษรัตนราชพัลลพ (นพ ไกรฤกษ์)
พระยาราชสัมภารากร (ชม ไกรฤกษ์)
พระยาประเสริฐศุภกิจ (เพิ่ม ไกรฤกษ์)
พระยาภักดีณรงค์ (สิน ไกรฤกษ์)
พระยาเพชรรัตน์ (โมรา )
หลวงเทพนรินทร์ (วัน)
พระยาโยธีบริรักษ์ (เคลือบ)
หลวงพิทักษ์สุเทพ (รอด)
หลวงคุณสารสมบัติ (ลำไย)
หลวงอัฏมัทยานุยุติ (เอี่ยม)
พระยาจรรยายุคกฤติ (สวน)
เจ้าพระยามหิธร (ลออ)
พระยาจักรปาณีศรีศีลวิสุทธิ์ (อู๋)
หลวงวิสูตรอัสดร (อั๋น)
ฯลฯ
**********
หมายเหตุ
๑ สำหรับผม ผู้เขียนขอมีความเห็นต่าง ในฐานะที่สืบเชื้อสายมาจากชาวฮกเกี้ยน ธรรมเนียมชาวฮกเกี้ยนที่ภูเก็ตสมัยก่อน บุตรชายหญิงจะตั้งชื่อจีนทุกคน เมื่อไปโรงเรียน บางคนจึงเปลี่ยนเป็นชื่อไทย แซ่จีน คำว่า เริก กับ อิน น่าจะเป็นชื่อสำเนียงฮกเกี้ยน คำว่าเริก น่าจะเพี้ยนมาจากคำว่า ลก เรียกว่า หลิมลก ซึ่งชื่อนี้มีคนตั้งกันพอสมควร ภาษาจีนกลางว่า หลินลู่ และคำว่า อิน ก็เช่นเดียวกัน น่าจะมาจากสำเนียงฮกเกี้ยนว่า อิ้น เป็น หลิมอิ้น เสียง อิ้น ไม่ตรงเสียทีเดียว จีนกลางว่า หลินอิน ในประวัติเรียกเป็นภาษาจีนอีกชื่อว่า โง้ว ซึ่งเป็นสำเนียงแต้จิ๋ว น่าจะเป็น หงอหรือหง่อ สำเนียงฮกเกี้ยนมากกว่า
|