หน้าที่ทางราชการ

หลินเจ๋อสวีเป็นคนหัวสมัยเก่า เป็นคนตงฉิน หลินเป็นนักต่อต้านการทุจริต ในระหว่างที่เข้าศึกษาในสถาบันฮั่นหลิน ซึ่งเป็นที่รวมของนักปราชญ์ของจีนก็ว่าได้ เพราะคนที่เข้าศึกษาในสถาบันแห่งนี้ จะเป็นที่ปรึกษาของสมเด็จพระจักรพรรดิ และถือว่าได้รับราชการแล้ว ดังนั้นหลินจึงเริ่มเข้ารับราชการมีเงินเดือน เมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๔ สมัยฮ่องเต้เจียชิ่ง ภายหลังจากที่ฮ่องเต้เจียชิ่งเสด็จสวรรคตปี พ.ศ. ๒๓๖๓ ฮ่องเต้เต้ากวงขึ้นครองราชย์ พ.ศ. ๒๓๖๓ หลินเจ๋อสวีทำหน้าที่ด้านเอกสารต่างๆของฮ่องเต้เต้ากวง ( พ.ศ. ๒๓๖๔ ๒๓๙๓ ) หลินเป็นคนที่มีทักษะสูงในการบริหารจัดการ เป็นขุนนางที่กระตือรือร้นในการงาน ติดตามงาน วิเคราะห์งานอย่างเป็นระบบ หลินจึงก้าวขึ้นสู่เป็นหนึ่งในคณะกรรมการบริหารระดับสูงของราชสำนักชิง คำพูดหรือข้อคิดเห็นของหลินได้รับการยอมรับและเป็นคนหนึ่งที่ได้รับการนับถือว่า เป็นผู้ที่ตัดสินใจในการทำงาน แก้ปัญหาในเวลาหน้าสิ่วหน้าขวานได้ดีกว่าคนอื่น หลินเป็นคนมีศีลธรรมและ มีคุณธรรมสูง มีจริยธรรมสูง ประการสำคัญที่สุดในชีวิตการทำราชการของหลินก็คือ เป็นคนตงฉิน จนได้รับฉายาว่า หลิน : ผู้โปร่งใส - Lin : the Clear Sky ในสมัยนั้นมีสิ่งเย้ายวนใจเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะผลประโยชน์จากการค้าฝิ่นที่พวกชาวตะวันตกยัดเยียดให้คนจีน โดยมีพ่อค้าคนจีนท้องถิ่นให้ความร่วมมือด้วย นอกจากนี้ยังมีขุนนางผู้ใหญ่ต่างพระเนตรพระกรรณที่ทนความเย้ายวนด้วยเงินตราไม่ไหว ต่างกอบโกยผลประโยชน์ใส่ตน แต่ยกเว้น หลินเจ๋อสวี ดังนั้น เมื่อเขาเป็นที่ปรึกษาของฮ่องเต้ คำพูดของท่านจึงมีน้ำหนักและได้รับความเชื่อถือมาก
ในขณะเดียวกัน หลินได้รับคำสั่งให้ไปอำเภออู่จาง มณฑลหูเป่ย เมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๙ เพื่อเป็นประธานกรรมการการสอบไล่ หลินได้เข้มงวดกวดขันนักศึกษาที่เข้าสอบ และปราบพวกโกงข้อสอบด้วยการซื้อข้อสอบด้วยราคาสูง แต่ไม่มีความรู้ภูมิปัญญาที่จะทำข้อสอบได้ การสอบคราวนี้ปรากฏว่า นักศึกษาที่มีความรู้ความสามารถสติปัญญาเฉลียวฉลาด แต่ฐานะยากจน สามารถสอบผ่านได้หลายคน ซึ่งทำให้ภาพการโกงกินทุจริตของหลินไม่มีปรากฏ
ในปี พ.ศ. ๒๓๗๔ หลินได้รับคำสั่งให้ไปแก้ปัญหาระบบน้ำที่มณฑลเจียงซู ซึ่งขณะนั้นมีปัญหาเรื่องความขาดแคลนอาหารและความหิวโหยของชาวบ้านทั่วไปทั้งมณฑล กลุ่มชาวนาเป็นเรือนแสนพากันประท้วงทางการ ด้วยการใช้เครื่องมือการทำนามาเป็นอาวุธ หลินแก้ปัญหาด้วยการลดดอกเบี้ยการยืมเงิน ช่วยชาวนา และให้ลงโทษพวกพ่อค้ากักตุนข้าว พวกพ่อค้าหน้าเลือด ด้วยนโยบายของเขาทำให้ชาวนาต่างพอใจและเดินทางกลับบ้าน นี่คือผลงานชิ้นแรกที่หลินกระทำได้สำเร็จ
ใน พ.ศ. ๒๓๖๓ หลินได้รับคำสั่งให้ไปแก้ปัญหาที่มณฑลหูเป่ยอีกครั้งหนึ่ง เขาได้ใช้อำนาจในการจัดการกับพวกข้าราชการท้องถิ่นที่ข่มเหงชาวบ้าน เขาจัดการอย่างกล้าหาญโดยไม่เกรงกลัวอิทธิพลใดๆในท้องถิ่นนั้น เขาดำเนินการเขียนรายงานกราบบังคมทูลฮ่องเต้ ถึงความชั่วของข้าราชการคนนั้นจนถูกลงโทษ
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๓๖๔ หลินได้รับความไว้วางใจให้ไปเป็นผู้ว่าราชการระดับสูงสามเมือง เขาได้แก้ปัญหาต่างๆ ปราบปรามการทุจริตของข้าราชการ สั่งปิดบ่อนการพนันและจับตัวมาลงโทษ ซึ่งทำให้ราษฎรชาวบ้านทั่วไปนิยมยินดีในตัวเขา แต่พวกข้าราชการกังฉินต่างไม่พอใจ เพราะไปขัดลาภหนทางทำมาหากินในทางทุจริตของพวกเขา
หลินได้รับคำสั่งให้ไปปฏิบัติราชการ ที่มณฑลเจียงซูอีกครั้งหนึ่ง เพื่อแก้ปัญหาการชลประทานและเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร เขาทำงานอย่างได้ผล จนทำให้เขาได้รับตำแหน่งที่สูงขึ้น คือ ข้าหลวงมณฑล
หลินเจ๋อสวีได้ดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษา และงานเอกสารของฮ่องเต้เต้ากวงอยู่หลายปี จนในปี พ.ศ. ๒๓๘๐ ถึง พ.ศ. ๒๓๘๒ หลินได้รับโปรดเกล้าฯให้ไปเป็นข้าหลวงมณฑลหูกวง ( รวมมณฑลหูเป่ยและหูหนาน ) บริเวณที่เรียกว่า เจียงหนาน เพื่อไปแก้ปัญหาเรื่องข้าวสาลีที่จะนำส่งไปปักกิ่งและพระราชสำนัก เมื่อไปดำรงตำแหน่งข้าหลวง ณ มณฑลนี้ ประการแรก หลินได้พยายามปฏิรูปข้าราชการระดับสูงประจำมณฑลก่อน แล้วจึงจัดระบบการนำส่งข้าวสาลีไปยังเมืองหลวง และพยายามนำเสนอการเวนคืนที่ดินทางภาคใต้ของเมืองหลวง นอกจากนี้ยังได้จัดทำโครงการการแก้ปัญหาเรื่องน้ำที่หมักหมมมานาน ตลอดจนการอนุรักษ์น้ำให้มีใช้กันทั่วไปทั้งมณฑล เรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่ง ที่หลินเจ๋อสวีมีนโยบายในการแก้ปัญหาการเสพฝิ่นของชาวหูหนานและหูเป่ย ด้วยวิธีการร่วมมือกับราษฎรแจ้งเบาะแสผู้ค้าฝิ่นและผู้เสพยา ตลอดจนปราบปรามพวกขุนนางกังฉินที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้าฝิ่น และชาวจีนผู้เป็นตัวแทนค้าฝิ่น ลงโทษผู้ค้าฝิ่นและรักษาผู้ติดฝิ่น ด้วยวิธีการทางการแพทย์ นอกจากนี้เขาได้ซื้อฝิ่นจากพวกพ่อค้าฝิ่น เป็นจำนวน ๒.๓๗ ล้านจิ้น เพื่อเอามาทำลาย แต่ฝิ่นก็ยังมีการลักลอบนำเข้าไปยังหูเป่ยและหูหนาน การลำเลียงฝิ่นของชาวต่างชาติที่มีคนพื้นเมืองช่วยเหลือเช่นนี้ แก้ปัญหาค่อนข้างยาก ซึ่งท่านใช้เวลา ๑๘ เดือนในการทำงานเรื่องนี้ ในปี พ.ศ. ๒๓๘๑ หลินเจ๋อสวีได้นำเสนอเรื่องภัยร้ายแรงของการสูบฝิ่น ของราษฎร และการค้าฝิ่นของชาวต่างชาติต่อสภาที่ปรึกษาในราชสำนัก ฮ่องเต้เต้ากวงทรงตกพระทัยที่การสูบฝิ่นเป็นภัยร้ายแรงต่อราษฎรและประเทศชาติ
ใน พ.ศ. ๒๓๘๓ จึงทรงพระกรุณาโปรดเล้าฯให้หลินเจ๋อสวีไปเป็นข้าหลวงมณฑลเหลียงกวง ( รวมมณฑลกว่างตงและกว่างซี ) เพื่อแก้ปัญหาเรื่องฝิ่นทั้งผู้ขายและผู้ซื้อหรือผู้เสพ ที่ทำผิดกฎหมายของรัฐบาลซึ่งได้ประกาศใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๓๗๙ มาแล้ว
: สมบูรณ์ แก่นตะเคียน ๑๙ เมษายน ๒๕๕๑
Title :
: Somboon Kantakian
|