Bookmark and Share Add to Favorites  
สมาคม
  LIN (SURNAME)
   China's Lin Clan Network
   Chaoshan Lin
   สมาคมตระกูลลิ้มแห่งประเทศไทย
  ชุมชนชาวฮากกา
หนังสือพิมพ์
  ซินหัวไทย
  China Daily
  China News
  People's Daily Online
  Xinhua
  China Youth Daily
  Bangkokpost
  มติชน
  ไทยรัฐ
  เดลินิวส์
  ผู้จัดการ
  คมชัดลึก
  กรุงเทพธุรกิจ
  บ้านเมือง
  แนวหน้า
  ไทยโพสต์
  โพสต์ทูเดย์
  สยามรัฐ
  บางกอกทูเดย์
  โลกวันนี้
  เส้นทางเศรษฐกิจ
  มติชนสุดสัปดาห์
มุมนักเสี่ยงโชค
  ตรวจผลสลากกินแบ่งรัฐบาล
  ตรวจสลากย้อนหลัง
  ผลสลากออมสิน
  ธกส.ออมทรัพย์ทวีสิน
แลกเปลี่ยนเงินตราและหุ้น
  ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
  ธนาคารไทยพาณิชย์
  ธนาคารกรุงเทพ
  ตลาดหลักทรัพย์ - หุ้น
  ตลาดหุ้น
เว็บเครือข่าย
  สมบูรณ์อินโฟ
  ภูเก็ตสารสนเทศ
  สมบูรณ์แก่นโน้ต

การสอบจอหงวน

 

 

       

       

 

 

 

        การสอบคัดเลือกคนเพื่อเข้ารับราชการของจีน  ที่เป็นที่รู้จักกันดีว่า  การสอบจอหงวนนั้น    เป็นการเรียกการสอบทั่วๆไป   การสอบคัดคนเข้ารับราชการเพื่อเป็นขุนนางเจ้าคนนายคนเหนือกว่าราษฎรสามัญทั่วไป   ได้เริ่มมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่น  (  พ.ศ.  ๓๓๗ – ๗๖๓  )  มาแล้ว   พอถึงสมัยราชวงศ์สุย  (  พ.ศ.  ๑๑๒๓ – ๑๑๘๑  )  ได้มีการวางรากฐานการสอบคัดคนเข้ารับราชการ   พอถึงสมัยราชวงศ์ถัง  ( พ.ศ.  ๑๑๘๑ – ๑๔๕๐  )  ได้มีการปรับปรุงวิธีการสอบให้รัดกุมขึ้นและราษฎรได้ให้ความสนใจสมัครสอบกันมาก   แต่จำนวนผู้สอบไล่ได้มีจำนวนน้อย   ข้อสอบที่ออกเป็นประเภทการแต่งโคลงกลอนและการท่องจำเป็นหลัก    เมื่อผ่านการสอบรอบแรกแล้ว  ทางการจะขึ้นบัญชีผู้สอบได้   แต่ยังไม่มีตำแหน่งบรรจุให้   เพียงแต่มีคุณสมบัติที่สามารถเข้ารับราชการได้เท่านั้น   คนเหล่านี้จะมีฐานะทางสังคมสูงกว่าสามัญชน  ต่างก็รอให้ทางการเรียกบรรจุ  

        อย่างไรก็ตามหากไม่อยากรอก็สามารถที่จะสมัครสอบในขั้นสูงกว่าก็ได้   โดยมีคณะกรรมการสภาขุนนางเป็นผู้ออกข้อสอบและตรวจข้อสอบ   เมื่อสอบผ่านขั้นนี้จะได้รับการบรรจุเป็นขุนนางทันที  ผู้สอบได้ที่หนึ่งเรียกว่า   จอหงวน  อันดับสองเรียกว่า  จางอั้น   ผู้ที่มีอายุน้อยที่สุดและสอบติดเรียกว่า  ตันฮวา     ผู้เข้าสอบทุกคนสามารถนำผลงานเขียนต่างๆของตน มาให้กรรมการพิจารณาประกอบได้ด้วย   พวกที่มีเงินทองหรือบุตรขุนนางที่อยากได้ตำแหน่งแต่ความรู้ไม่ถึงขั้น    ต่างพยายามเสียเงินใต้โต๊ะเพื่อให้ได้ตำแหน่งก็มี         

        การสอบจอหงวนสมัยราชวงศ์ซ่ง  (  พ.ศ.  ๑๕๐๓ – ๑๘๒๓  )  เป็นสมัยที่รุ่งเรืองมาก   มีปรับปรุงการสอบโดยเพิ่มการสอบต่อหน้าพระที่นั่งด้วย   ช่วงนั้นผู้เข้าสอบต่างมีความรู้สึกว่า  คณะกรรมการสอบมีพระคุณต่อพวกตนมากกว่าองค์พระจักรพรรดิเสียอีก   เพราะทำให้พวกตนได้เป็นขุนนางรับราชการมีหน้ามีตาในสังคม  วิธีการสอบสมัยนี้ใช้วิธีสอบคัดเลือกมาจากระดับอำเภอเป็นเบื้องต้น  แล้วไปสอบระดับมณฑล   ผู้ที่สอบไล่ได้ที่หนึ่งในระดับมณฑลอาจไม่ได้ที่หนึ่งเมื่อสอบต่อหน้าพระที่นั่งก็ได้   ผู้ที่สอบได้ที่หนึ่งต่อหน้าพระที่นั่งเรียกว่า  จิ้นสือ   ถือว่าเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ   ผู้ที่ได้ที่สองเรียกว่า   จางอั้น   ผู้ได้ที่สามเรียกว่า  ตันฮวา   เมื่อมีการสมัครสอบกันมากแต่มีตำแหน่งบรรจุน้อย  ผู้เข้าสอบบางคนต่างหาวิธีโกงข้อสอบ   คณะกรรมการการสอบจึงคุมเข้ม  และเพื่อไม่ให้คณะกรรมการตรวจข้อสอบ ทราบว่าเป็นข้อสอบของใคร   จึงมีการลอกคำตอบให้ตรวจ  ปิดหัวกระดาษชื่อผู้สอบแล้วใช้รหัสตัวเลขแทน   ส่วนเนื้อหาข้อสอบสมัยนี้  ได้เน้นการเมืองและการปกครอง   แต่ก็ยังมีการสอบคำโคลงกลอนและการท่องจำ   ส่วนการสอบต่อหน้าพระที่นั่งจะมีผู้แทนพระองค์มาเป็นประธาน   คณะกรรมการตรวจข้อสอบจะลำดับคะแนนรายชื่อทูลเกล้าฯถวายสมเด็จพระจักรพรรดิทรงพิจารณาตัดสินว่า ใครจะได้เป็นที่หนึ่งของประเทศและตามลำดับ

         อย่างไรก็ตาม   เมื่อมีการสอบคัดเลือกคนเข้ารับราชการซึ่งมีทั้งฝ่ายทหารและฝ่ายพลเรือน  ต่อมาจึงมีการสอบจอหงวนทั้งฝ่ายบู๊และฝ่ายบุ๋น

        พอถึงสมัยราชวงศ์หมิง  (  พ.ศ.  ๑๙๑๑ – ๒๑๘๒ )   ได้มีการเปิดโรงเรียนสอนขึ้นเป็นจำนวนมาก ทั้งระดับอำเภอและมณฑล   ตลอดจนในเมืองหลวง   ซึ่งต่างจากสมัยก่อนที่ผู้เข้าสอบต้องอ่านและทำความเข้าใจบทเรียนเอง   สมัยนี้ผู้เรียนจึงมีความหวังมากขึ้น   และทางราชการยังได้ช่วยเหลือโรงเรียนเหล่านั้น ด้วยการรับนักเรียนที่มีผลการเรียนดีเด่นเข้ารับราชการโดยไม่ต้องผ่านการสอบในระดับอำเภออีก

        สมัยราชวงศ์ชิง  ( พ.ศ.  ๒๑๘๗ – ๒๔๕๔ )   สมเด็จพระจักรพรรดิไท้จู่ ( พ.ศ. ๒๑๕๙ – ๒๑๖๙ )  ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์ชิง   โปรดฯให้มีการปรับปรุงการสอบใหม่ทั้งฝ่ายบุ๋นและฝ่ายบู๊  ต่อมาได้มีการปรับปรุงอีกหลายครั้ง  โดยแบ่งการสอบออกเป็น ๔ ระดับ  สรุปได้ดังนี้

             ๑.   การสอบระดับอำเภอ   ซึ่งเป็นระดับต่ำสุด  จะคัดเลือกเอาผู้ได้คะแนนสูงสุด  ๒๐  คนแรกหรือ ๑๐ คนแรก  ถือว่าสอบผ่านและได้วุฒิ   ซิวไช่  ( ซิวจ๋าย )  โดยทางราชสำนักส่งกรรมการลงไปออกข้อสอบคุมสอบและตรวจข้อสอบเบ็ดเสร็จ   ข้อสอบจะเป็นลักษณะการแต่งโคลงกลอน  และการเรียงความตามหัวข้อที่กำหนดให้หนึ่งหรือสองเรื่อง  ใช้เวลาสอบหนึ่งวันกับหนึ่งคืน  คนที่สอบไล่ได้วุฒิซิวไช่แล้ว   จะยังไม่ได้เข้ารับราชการบรรจุเป็นขุนนาง  แต่ฐานะทางสังคมของพวกเขาจะสูงกว่าสามัญชนทั่วไป   พวกเขาสามารถใส่กระดุมทองชุบราคาต่ำสุดที่หน้าหมวกได้   และได้รับการคุ้มครองการถูกลงโทษทางร่างกาย  เช่น การเฆี่ยนตี  เป็นต้น

            ๒.   การสอบระดับมณฑล    ผู้ที่สอบผ่านระดับซิวไช่แล้ว  สามารถสมัครสอบระดับมณฑลได้   ผู้ที่สอบผ่านระดับนี้จะได้รับวุฒิ   จูเหริน   ซึ่งเป็นหนึ่งในร้อยซิวไช่   ส่วนข้อสอบจะมีความยากขึ้นกว่าระดับแรก  โดยแบ่งเป็นสามส่วน  แต่ก็ยังไม่ทิ้งการแต่งโคลงกลอน  มีการเรียงความตามหัวข้อที่กำหนดให้   ต้องใช้เวลาสอบสามวัน   กรรมการคุมสอบและกรรมการออกข้อสอบ  จะเป็นขุนนางระดับสูงจากพระราชสำนักที่ได้ผ่านการเรียนจากสถาบันฮั่นหลินมาแล้วทั้งสิ้น   โดยได้รับพระบรมราชโองการ เป็นผู้แทนพระองค์สมเด็จพระจักรพรรดิ   กรรมการเหล่านี้จะทำงานร่วมกับข้าราชการประจำมณฑล  ผู้ที่สอบไล่ได้จูเหรินแล้ว    ยังไม่ได้รับการบรรจุเป็นขุนนาง   แต่ฐานะทางสังคมสูงขึ้น   สามารถแต่งกายตามวุฒิที่กำหนดไว้ได้คือ   สวมเสื้อมีกระดุมชุบทอง  ทำป้ายแขวนเหนือประตูหน้าบ้าน  ข้อความว่า  จูเหริน  และบอกวันเดือนปีที่สอบได้   และยังได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายเหนือสามัญชน

              ๓.   การสอบระดับเมืองหลวง    ผู้ที่สอบได้จูเหรินแล้วหากต้องการความก้าวหน้าทางราชการให้เร็วขึ้น  ก็ต้องเดินทางเข้ากรุงปักกิ่ง   เพื่อสมัครสอบระดับ   จิ้นสือ     ผู้ที่สอบผ่านระดับนี้เป็นหนึ่งใน๓๐จูเหริน  จะมีงานรออยู่แล้วนั่นก็คือ  เข้ารับราชการได้ทันทีคือเป็น  นายอำเภอ   หรือตำแหน่งที่ใกล้เคียง   ส่วนข้อสอบระดับนี้จะยากกว่าระดับจูเหริน   และมีผู้สมัครสอบกันมากเพื่อหวังจะได้เป็น  จอหงวน  ดังนั้นพวกจิ้นสือจึงรอสอบระดับนี้  บางครอบครัวเข้าสอบตั้งแต่ยุคปู่ ยุคพ่อและถึงยุคตนก็ยังสอบไม่ได้เลย   บางคนเดินทางกลับภูมิลำเนาเดิม  แล้วย้อนกลับมาสอบใหม่ในปีถัดไป  ผู้เข้าสอบจึงมีอายุที่แตกต่างกันหลายระดับ   จิ้นสือเหล่านี้ทางราชการจะมีเงินเดือนให้พร้อมบ้านพัก

 

                ๔.     การสอบระดับราชสำนัก   พวกที่สอบไล่ได้วุฒิจิ้นสือแล้ว   คณะกรรมการสอบไล่จะพิจารณาผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด    หรือ ๑๐  อันดับแรก  หรือมากกว่านี้แล้วแต่พระราชประสงค์ของสมเด็จพระจักรพรรดิ ที่ทรงต้องการข้าราชการระดับหัวกะทิมากน้อยในแต่ละปี   นักศึกษาเหล่านั้นก็จะเข้าไปสอบต่อหน้าพระพักตร์   ซึ่งทรงสอบสัมภาษณ์หรือให้เขียน  หรือให้ต่อสู้หน้าพระที่นั่งถ้าสอบฝ่ายบู๊  ดังเช่นรัชสมัยสมเด็จพระจักรพรรดิไท่จู่  พระองค์ทรงเป็นประธานการสอบฝ่ายบุ๋นเอง  ผู้ใดมีความฉลาดหลักแหลม  มีไหวพริบ  ความจำเป็นเลิศ  กว่าคนอื่นในกลุ่ม  ก็จะได้ลำดับตามพระราชวินิจฉัย  ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดจะได้เป็น  จอหงวน  (  Zhuang Yuan  )   เป็นหนึ่งในแผ่นดิน  อันดับสองเป็น  ตันฮวา  อันดับสามเป็น  ปันอั้น  หรือบางสมัย  อันดับแรกจะเป็น  จอหงวน  อันดับสองเป็น  ไท่หงวน   อันดับสามเป็น  ฮวยหงวน   อันดับสี่เป็น  ปันอั้น   อันดับห้าเป็น   ตันฮวา

            สถาบันฮั่นหลิน    ผู้ที่ผ่านการสอบต่อหน้าพระที่นั่งทุกคน  จะถูกส่งเข้าไปศึกษาและฝึกงาน ณ สถาบันฮั่นหลิน  ซึ่งตั้งอยู่ในพระราชวัง   เพื่อเตรียมตัวเป็นขุนนางชั้นสูงต่อไป    สถาบันฮั่นหลิน เป็นแหล่งผลิตบุคคลชั้นหัวกะทิของประเทศ   เพื่อให้เป็นที่ปรึกษาของสมเด็จพระจักรพรรดิ   เป็นเลขาธิการ  เป็นอาลักษณ์   เป็นราชเลขาธิการ   เป็นข้าหลวงมณฑล   เป็นขุมกำลังสติปัญญาของราชสำนัก   เป็นนักประวัติศาสตร์   เป็นผู้วางแนวศึกษาลัทธิขงจื่อ  เป็นกรรมการสอบไล่ระดับอำเภอ  มณฑล  เมืองหลวง   เป็นตัวแทนพระองค์ในภารกิจที่ทรงให้ไปปฏิบัติ   ดังนั้นพวกขุนนางกลุ่มนี้จึงต้องเฝ้าแหนให้คำปรึกษาแด่สมเด็จพระจักรพรรดิตลอดเวลา   สถาบันฮั่นหลินได้เริ่มจัดให้มีขึ้นตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่นและสืบเนื่องกันมาจนถึงสมัยราชวงศ์ชิงจึงได้ล้มเลิกไปใน  พ.ศ.  ๒๔๕๔  เมื่อราชวงศ์นี้ล่มสลาย

 

 

            :     สมบูรณ์ แก่นตะเคียน   ๑๙ เมษายน  ๒๕๕๑

 

 

บทความอื่นๆ ในหมวดเดียวกัน