เทศกาลที่สำคัญ
วันที่สำคัญของเจ้าแม่มาจู่ คือวันคล้ายวันกำเนิด คือตรงกับวันที่ ๒๓ เดือน ๓ ตามจันทรคติจีน และวันคล้ายวันเสด็จสู่สวรรค์ คือ วันที่ ๙ เดือน ๙ ตามจันทรคติจีน ศาลเจ้ามาจู่ทั่วโลกที่มีคนนับถือกว่าหนึ่งร้อยล้าน ได้จัดงานฉลองคล้ายวันเกิดยิ่งใหญ่กว่าวันจากไปของท่าน ตามปฏิทินคล้ายวันกำเนิดของท่านในแต่ละปี ดังนี้
๒๕๔๔ เมษายน วันที่ ๑๖
๒๕๔๕ พฤษภาคม วันที่ ๕
๒๕๔๖ เมษายน วันที่ ๒๔
๒๕๔๗ พฤษภาคม วันที่ ๑๑
๒๕๔๘ พฤษภาคม วันที่ ๑
๒๕๔๙ เมษายน วันที่ ๒๐
๒๕๕๐ พฤษภาคม วันที่ ๙
๒๕๕๑ เมษายน วันที่ ๒๘
๒๕๕๒ เมษายน วันที่ ๑๘
๒๕๕๓ พฤษภาคม วันที่ ๖
๒๕๕๔ เมษายน วันที่ ๒๕
๒๕๕๕ เมษายน วันที่ ๑๓
๒๕๕๖ พฤษภาคม วันที่ ๒
๒๕๕๗ เมษายน วันที่ ๒๒
๒๕๕๘ พฤษภาคม วันที่ ๑๑
๒๕๕๙ เมษายน วันที่ ๒๙
๒๕๖๐ เมษายน วันที่ ๑๙
๒๕๖๑ พฤษภาคม วันที่ ๘
๒๕๖๒ เมษายน วันที่ ๒๗
๒๕๖๓ เมษายน วันที่ ๑๕
๒๕๖๔ พฤษภาคม วันที่ ๔
๒๕๖๕ เมษายน วันที่ ๒๓
ที่เกาะเหมยโจว แต่เดิมชาวบ้านได้จัดงานคล้ายวันกำเนิดและคล้ายวันเสด็จสู่สวรรค์ให้เจ้าแม่ทุกปีเป็นพันปีมาแล้ว ถึงสมัยสมเด็จพระจักรพรรดิคังซี แห่งราชวงศ์ชิง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้การจัดงานเทศกาลดังกล่าวเป็นงานหลวง เมื่อ พ.ศ. ๒๒๖๓ เรียกว่า งานฤดูใบไม้ผลิ และงานฤดูใบไม้ร่วง และได้จัดติดต่อกันมานาน ปัจจุบันเมื่อสร้างศาลเจ้าแม่แห่งใหม่ขยายใหญ่โตมากขึ้น มีห้องแสดงนาฏกรรมสมัยราชวงศ์ซ่ง ศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวและอื่นๆตลอดปี การขายสินค้าพื้นเมือง รวมทั้งรูปปั้นแกะสลักองค์เจ้าแม่ที่คนได้เช่าไปบูชาปีละเป็นพันองค์ กิจกรรมต่างๆเหล่านี้เป็นไปตามลักษณะของเมืองท่องเที่ยวโดยแท้ นอกจากการจัดเทศกาลวันดังกล่าวแล้ว
ส่วนที่ไต้หวันจะจัดที่ศาลเจ้าแม่ที่ศาลเจ้า เป่ยก้างฉาวเทียน ที่ศาลเจ้าซินก้างเฝิงเทียน ศาลเจ้าไต้จ่าโจวหลัน ศาลเจ้าไท่หนาน และที่ศาลเจ้าเปิงหู หมู่เกาะเปิงหู เดิมสมัยราชวงศ์ชิงพวกเขาได้รับเงินสนับสนุนมาจัดงานเทศกาลนี้ เมื่อถึงวันงานเรียกว่า ต้าเชี้ยมาจู่ คือเจ้าแม่มาประทับเมื่อร้อยปีเศษแล้ว เพื่อกลับไปเยี่ยมบรรพบุรุษที่ศาลเจ้าเป่ยก้าง เพื่อรับธูปที่นั่น พิธีการเดินทางไกลนี้เรียกว่า ชินเสียง คือ การนำธูป ไปสู่ศาลเจ้าที่เก่าแก่กว่า ด้วยการอัญเชิญองค์เจ้าแม่ขึ้นเกี้ยว ซึ่งมีสามองค์ เรียกว่า ต้าม่า ( Da Ma ) หรือ แม่ใหญ่ องค์ที่สองเอ่อม่า ( Er Ma ) หรือแม่รอง องค์ถัดไปคือ ซานม่า ( San Ma ) หรือแม่สาม องค์เจ้าแม่ที่ใช้ในขบวนแห่จะไม่ใช้องค์ที่ประทับอยู่ในศาลเจ้า เพราะเป็นองค์ที่ใหญ่เกินที่จะอัญเชิญขึ้นเกี้ยวและต้องหามไประยะไกล ตามด้วยนายพลทหารเอกสององค์ คือ นายพลเฉียนลี่เหยิน ผู้มีตาทิพย์และนายพลชุนเฝิงเอ้อผู้มีหูทิพย์ และขบวนถือธงทิว ตีกลองล่อโก้ะและฉาบสนั่นไปเหมือนการแห่เทพเจ้าจีนในเมืองไทย ขบวนแห่จะผ่านหมู่บ้านสามสิบแห่งและศาลเจ้าแม่มาจู่ห้าสิบเก้าแห่ง แต่ละแห่งจะตั้งโต๊ะบูชา สองข้างทาง ชาวบ้านจะคอยรับของมงคลซึ่งมีถุงสีแดงใส่ขี้ธูปและเครื่องราง มีชาวบ้านร่วมแสนคนในแต่ละปีที่เข้าร่วมงาน คนในขบวนแห่จะเดินด้วยความสงบและมีสมาธิ เดินทั้งวันทั้งคืน โดยใช้เวลางีบเพียงห้าชั่วโมงเท่านั้นในเวลากลางคืน ระยะทางที่เดินต่อเนื่องกันประมาณตั้งแต่ ๒๘๐ ถึง ๓๓๒.๔ กิโลเมตร ดังนั้นคนที่มีจิตศรัทธาและร่างกายแข็งแรง จิตใจมั่นคงเท่านั้น จึงจะเดินได้ตลอดเทศกาลการเดินชินเสียง เพราะ ใช้เวลาเดินทางแห่ทั้งหมด ๘ วัน
เทศกาลศาลเจ้าแม่มาจู่เทียนจิน ( เทียนสิน ) เมืองเทียนจินเป็นเมืองท่าเรืออ่าวโปไห่ และใกล้กรุงปักกิ่ง เมื่อราชวงศ์หยวนย้ายเมืองหลวงไปปักกิ่ง การลำเลียงข้าวปลาอาหารไปปักกิ่งโดยผ่านเมืองท่าเทียนจินจึงจำเป็นอย่างสูง แต่ก็ต้องผ่านพายุไต้ฝุ่น คลื่นยักษ์และแก่งหินใต้ทะเล พ่อค้าวานิชจึงต้องสร้างเรือใหญ่ขนส่ง ขณะเดียวกันก็ต้องการเทพเจ้าสมุทรเพื่อช่วยปกป้องพายุ เจ้าแม่มาจู่จึงเป็นองค์ที่พวกเขาเลือกบูชาด้วยกิตติศัพท์ที่เลื่องลือ ดังนั้นที่ท่าเรือใกล้อู่ต่อเรือซ่อมเรือพวกเขาจึงสร้างศาลเจ้าแม่มาจู่ขึ้นซึ่งเป็นศาลเจ้าแม่ที่ใหญ่ที่สุด กล่าวกันว่างานเทศกาลฉลองเจ้าแม่ได้จัดขึ้นครั้งแรก ที่เกาะฉางเต้า มณฑลชานตง บริเวณเมืองชายฝั่งที่เมืองเทียนจินนี่เอง
สมเด็จพระจักรพรรดิเฉียนหลงได้เสด็จผ่านและประทับที่เมืองท่าซานชากั๋วก่อนที่พระองค์จะเสด็จประพาสเจียงหนาน คือบริเวณตอนใต้ของแม่น้ำแยงซี ขณะนั้นเป็นเทศกาลฉลองคล้ายวันกำเนิดเจ้าแม่ที่ศาลเจ้าเทียนจิน พระองค์จึงเสด็จประพาสต้น ทอดพระเนตรงานที่สนุกสนาน มีการอัญเชิญองค์เจ้าแม่ขึ้นเกี้ยวแห่ไปตามถนนทั่วเมือง เมื่อผ่านบ้านคหบดีหรือขุนนางผู้ใหญ่ หน้าบ้านจะทำที่ยกพื้นปะรำมีโต๊ะบูชา มีเทียบเชิญเจ้าแม่จากเจ้าของบ้าน ขบวนแห่จะทำพิธีให้พรแก่เจ้าของบ้านและแสดงศิลปะการละเล่นต่างๆ ตลอดงานจะมีเสียงกลองฉาบดังสนั่นตลอดเทศกาล งานนี้ได้ชื่อว่า งานเทศกาลแห่งจักรพรรดิ จนสิ้นยุคราชวงศ์ชิง ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๔ เป็นต้นมาถึงยุคการเปลี่ยนแปลงการปกครองของจีนหลายสิบปี ปัจจุบันงานฉลองคล้ายวันกำเนิดและวันเสด็จสู่สวรรค์ของท่าน ทางศาลเจ้าได้จัดขึ้นมาใหม่
สรุปแล้วในช่วงงานฉลองเจ้าแม่มาจู่ มีนิทรรศการและการแสดงต่างๆ ดังนี้
- การแห่โคมไฟ
- การละเล่นเกี่ยวกับประเพณีท้องถิ่น
- การแสดงศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน
- การแสดงภาพเขียน จิตรกรรม
- การแสดงศิลปะเส้นสายลายอักษร ( Calligraphy )
- การแสดงภาพถ่าย
- วัตถุมงคลเกี่ยวกับเจ้าแม่มาจู่
- การจำหน่ายโปสการ์ดเกี่ยวกับพระประวัติเจ้าแม่มาจู่
- การแดงว่าวประเภทต่างๆ
- ตกปลาเพื่อความสนุก
- กีฬาต่างๆ
- สันทนาการต่างๆจัดขึ้นที่ชายหาดสีทอง เกาะเหมยโจว
- การแสดงของวัดเส้าหลิน
- การแสดงดนตรีและการแสดงระบำชุดต่างๆ
- การแสดงของเด็กนักเรียนชุดต่างๆเป็นร้อยคน
- การสัมมนาทางวิชาการเกี่ยวกับเจ้าแม่มาจู่
- ฯลฯ
การจัดกิจกรรมเหล่านี้มิใช่มีเพียงที่เกาะเหมยโจว แต่จะมีตามศาลเจ้าแม่ตามเมืองใหญ่และต่างประเทศที่มีคนนับถือกันมาก
: สมบูรณ์ แก่นตะเคียน ๑๒ เมษายน ๒๕๕๑
Title : Festivals
: Somboon Kantakian
|