Bookmark and Share Add to Favorites  
สมาคม
  LIN (SURNAME)
   China's Lin Clan Network
   Chaoshan Lin
   สมาคมตระกูลลิ้มแห่งประเทศไทย
  ชุมชนชาวฮากกา
หนังสือพิมพ์
  ซินหัวไทย
  China Daily
  China News
  People's Daily Online
  Xinhua
  China Youth Daily
  Bangkokpost
  มติชน
  ไทยรัฐ
  เดลินิวส์
  ผู้จัดการ
  คมชัดลึก
  กรุงเทพธุรกิจ
  บ้านเมือง
  แนวหน้า
  ไทยโพสต์
  โพสต์ทูเดย์
  สยามรัฐ
  บางกอกทูเดย์
  โลกวันนี้
  เส้นทางเศรษฐกิจ
  มติชนสุดสัปดาห์
มุมนักเสี่ยงโชค
  ตรวจผลสลากกินแบ่งรัฐบาล
  ตรวจสลากย้อนหลัง
  ผลสลากออมสิน
  ธกส.ออมทรัพย์ทวีสิน
แลกเปลี่ยนเงินตราและหุ้น
  ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
  ธนาคารไทยพาณิชย์
  ธนาคารกรุงเทพ
  ตลาดหลักทรัพย์ - หุ้น
  ตลาดหุ้น
เว็บเครือข่าย
  สมบูรณ์อินโฟ
  ภูเก็ตสารสนเทศ
  สมบูรณ์แก่นโน้ต

ความเมตตากรุณาที่ปรากฏ

 

 

       

 

 

 

  

 

        หลังจากจิตวิญญาณเจ้าแม่มาจู่ ได้เสด็จขึ้นสวรรค์แล้ว  ท่านก็ยังคงช่วยเหลือนักเดินเรือทั้งหลายอยู่ตลอดเวลาที่พวกเขาได้รับความเดือดร้อนจากพายุ และโจรสลัดตามชายฝั่งทะเลจีน  ถึงแม้ทางการจีนเคยปราบปรามโจรเหล่านั้น   แต่ก็ยังคงมีอยู่  ด้วยพื้นที่กว้างใหญ่มีเกาะแก่งมากมาย

         เมื่อราชวงศ์ซ่งใต้ ต้องเสียดินแดนทางเหนือไปให้อาณาจักรจิ้นแล้ว  ทำให้จีนมีพื้นที่เล็กลง  การทำสัญญากับอาณาจักรจิ้นไม่ให้รุกราน  จีนจึงมีเวลาในการพัฒนาประเทศได้รวดเร็ว  แต่เส้นทางสายไหมทางภาคเหนือถูกตัดขาดจากอาณาจักรจิ้นและอาณาจักรซีเซี่ย  จีนจึงต้องอาศัยเมืองชายฝั่งทะเลเป็นเมืองท่าค้าขายภายในประเทศ  ทำให้เกิดเมืองท่าที่สำคัญหลายเมือง เช่น เมืองกว่างโจว       ฝูโจว   ฉางโจว   เซี่ยงไฮ้      อั๋นไท่  จินหานต้าว  หนิงโป เซี่ยเหมิน  มาเก๊า  กั้นปู้  เหวินโจว หางโจว  นานกิง  ชิงหยวน  เทียนจิน  เป็นต้น     การค้าขายกับต่างประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  เกาหลี ญี่ปุ่น  ฯลฯ   พ่อค้าชาวเรือนักเดินเรือต่างก็สร้างศาลเจ้าแม่มาจู่ไว้ที่เมืองท่าเหล่านั้น เพื่อสักการะและแก้บนจากการมีชีวิตรอดปลอดภัย    นอกจากการติดต่อค้าขาย ระหว่างพ่อค้าด้วยกันแล้ว  ราชสำนักซ่งเหนือและใต้ ได้ส่งราชทูตไปยังประเทศเกาหลีและญี่ปุ่น  เพื่อเจริญสัมพันธไมตรีและการค้า   การเดินทางเรือแต่ละครั้งมักประสบภัยพายุร้าย  ดังนั้นนักเดินเรือมักขอพรและเซ่นไหว้เจ้าแม่มาจู่ก่อนออกเรือทุกครั้ง 

        สมัยสมเด็จพระจักรพรรดิฮุ่ยจง  แห่งราชวงศ์ซ่งเหนือ  เมื่อ พ.ศ. ๑๖๖๕  ปีรัชกาลจ้วนเหอที่สี่    จากการบันทึกทางประวัติศาสตร์กล่าวว่า  เรือราชทูตไปเกาหลีต้องประสบกับพายุร้าย   ราชทูตและคนเรือต่างก็ขอให้เจ้าแม่มาจู่ช่วย    ทันใดนั้นท้องฟ้าสว่างขึ้น และเจ้าแม่มาจู่ปรากฏให้เห็นเหนือกระโดงเรือท่ามกลางพายุโดยสวมเสื้อผ้าชุดสีแดง  ฉับพลันคลื่นลมก็สงบ  บรรดาชาวเรือต่างกราบไหว้ขอบคุณ  เมื่อกลับถึงเมืองหลวง  ราชทูตได้กราบบังคมทูลให้ทรงทราบ  สมเด็จพระจักรพรรดิจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้กระทำพิธีเซ่นไหว้และถวายอิสริยยศฐานันดรศักดิ์   พระนามแก่เจ้าแม่มาจู่

         ในปี พ.ศ. ๑๙๑๑  จูหยวนจางได้ขับไล่พวกมองโกลออกไปจากประเทศ  จึงสถาปนาตนขึ้นครองราชย์เป็นปฐมกษัตริย์ราชวงศ์หมิง ทรงพระนามว่า สมเด็จพระจักรพรรดิไท่จู่  เมืองหลวงตั้งอยู่ที่นานกิง  โอรสองค์ที่สี่พระนามว่า  จู่ตี้อ๋อง  ได้เสด็จไปครองอาณาจักรเอียน คือบริเวณเมืองปักกิ่งในปัจจุบัน  เจิ้งเหอบ้านเดิมอยู่มณฑลยูนนาน  เป็นมุสลิม  เมื่อกองทัพหมิงปราบพวกมองโกลที่ยูนนานและได้กวาดต้อนผู้คนไปเมืองหลวงด้วย  ตอนนั้นเจิ้งเหออายุได้สิบเอ็ดขวบ  ใช้แซ่หม่า  ถูกกวาดต้อนไปด้วยและไปเป็นขันทีในจู่ตี้อ๋อง  ด้วยเป็นคนเก่งทั้งฝ่ายบู๊และบุ๋นช่วยจู่ตี้อ๋องปราบการจราจล  เมื่อจู่ตี้อ๋องขึ้นครองราชย์เมื่อ พ.ศ.  ๑๙๔๖  ทรงพระนามว่า  สมเด็จพระจักรพรรดิเฉิงตี้  ทรงใช้ปีประจำรัชกาลว่า  หย่งเล่อ  เป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่า  สมเด็จพระจักรพรรดิหย่งเล่อ   ในปี หย่งเล่อที่หนึ่ง  โปรดฯให้สร้างเรือเดินสมุทรจำนวน  ๑๑๘๐ ลำ  โดยเกณฑ์ชาวเมืองที่อาศัยอยู่ตามท่าเรือ และเมืองใหญ่ริมแม่น้ำแยงซีและแม่น้ำหมินแห่งฝูเจี้ยน  เมืองเหล่านี้ได้แก่  เมืองเจียงซู  เจียงซี  เจ้อเจียง  ฝูเจี้ยน  หูหนาน  และกว่างตง  ให้ระดมคนมาต่อเรือกว่าสี่แสนคนซึ่งเป็นช่างไม้ ช่างต่อเรือ  ผู้เชี่ยวชาญเรื่องใบเรือ  ผู้เชี่ยวชาญการต่อเรือ  ให้ต่อเรือลำใหญ่จำนวนหกสิบสองลำ  เรือลำใหญ่สุดเป็นเรือธงยาว  ๔๐๐ ฟุต บ้างว่า ๖๐๐ ฟุต    ส่วนเรือลำเล็กๆให้ใส่ลำใหญ่   โดยใช้อู่ต่อเรือสามแห่งใกล้เมืองนานกิง   โปรดฯให้เจิ้งเหอเป็นจอมพลเรือผู้บัญชาการกองเรือและเป็นหัวหน้าราชทูตด้วย  มีรองหัวหน้าคือ จิ้งหองหวาง  มีลูกเรือในตำแหน่งต่างๆรวม  ๒๗,๘๐๐  คน  ได้แก่  พลทหารเรือ นายทหารเรือ ราชทูต แพทย์ประจำเรือแต่ละลำ  เสมียน คนบันทึกเหตุการณ์  ผู้ชำนาญการต่อเรือ และคนปรุงอาหาร  คนเหล่านั้นส่วนหนึ่งน่าจะเป็นทหารที่เชี่ยวชาญการรบด้วย กลุ่มขันที  นอกจากนี้ยังมีโต๊ะอีหม่ำและพระสงฆ์ศาสนาพุทธ  เมื่อไปเจริญสัมพันธไมตรีกับเมืองที่เกี่ยวข้องกับศาสนาดังกล่าว

         ก่อนที่กองเรือจะออกเดินทางสู่ทะเลจีนใต้  เจิ้งเหอในฐานะจอมพลเรือ  จึงได้ประกอบพิธีบวงสรวงแม่ย่านางเรือ คือ เจ้าแม่มาจู่  ซึ่งประดิษฐานอยู่บนภูเขาโดยผินพระพักตร์ไปทางอู่ต่อเรือหลงเจียงและแม่น้ำแยงซี  ศาลเจ้ามาจู่แห่งนี้  สมเด็จพระจักรพรรดิเฉิงตี้โปรดฯให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.  ๑๙๔๖  เป็นศาลเจ้าที่ประกอบด้วยไม้ทั้งหลังและเป็นไม้มีค่าหายาก  ภายในศาลเจ้าประดับด้วยเครื่องทองเงินจนดูงดงามยิ่งนัก  ผนังภายในเป็นจิตรกรรมเกี่ยวกับพระประวัติของเจ้าแม่มาจู่

         การบวงสรวงเซ่นไหว้เจ้าแม่มาจู่และเทพเจ้าทั้งหลาย  บนแท่นบูชา ประกอบด้วย สุกร แพะ และวัว  โดยให้ผู้บัญชาการเรือแต่ละลำมาจุดธูปเทียน เครื่องหอม  แล้วเผากระดาษเงินกระดาษทองถวายแด่เจ้าแม่มาจู่และเทพเจ้าทั้งหลายที่อัญเชิญมา  พร้อมทั้งขอพรให้เทพทั้งหลายคุ้มครองป้องกันภัย ในการที่จะเดินทางเรือออกสู่มหาสมุทรอันกว้างใหญ่ในครั้งนี้  ด้วยพวกเขามีความเชื่อว่า  เจ้าแม่มาจู่  มีพระเนตรทิพย์ที่สามารถมองเห็นเภทภัยที่จะบังเกิดขึ้น  และมีหูทิพย์ที่จะรับฟังการอ้อนวอนให้ช่วยเหลือเมื่อประสบภัยในทะเลกว้างใหญ่ทั่วโลก

         หลังจากประกอบพิธีรวมแล้ว  ผู้บังคับการเรือแต่ละลำต่างก็ประกอบพิธีที่เรือของตนอีกครั้งหนึ่ง เพื่อขวัญและกำลังใจของลูกเรือ  โดยมีสิ่งยึดเหนี่ยวสองสิ่งด้วยกัน  คือ เข็มทิศ และเจ้าแม่มาจู่

ดังความตอนหนึ่งว่า

  “ข้าขอสักการะต่อบุรพกษัตริย์ทุกรัชกาล  ผู้ประดิษฐ์คิดค้นเข็มทิศเพื่อเป็นเครื่องชี้นำทางแด่อนุชนรุ่นหลัง  มาจนถึงปัจจุบัน  ทำให้เราได้เดินทางไปเบื้องหน้าอย่างถูกทิศ

                    ข้าขอสักการะต่อเทพยดาผู้สิงสถิตอยู่ในธรรมชาติทั้งหลาย  ในทะเล  ขุนเขา เกาะแก่ง  หาดทราย  สันดอน  และปะการัง  ขอให้พวกข้าเดินทางอย่างผู้รอบรู้  และเจนจัด  ในทุกเส้นทางและภูมิประเทศ

                    ข้าขอสักการระต่อเทพแห่งดวงดาวบนท้องฟ้า  ที่เป็นเครื่องชี้นำทางผู้คนตั้งแต่อดีตกาลมาจนถึงปัจจุบัน  ได้โปรดชี้เส้นทางให้แก่พวกข้าได้เดินทางไปสู่จุดหมาย

                    ข้าขอสักการะต่อองค์เจ้าแม่เทียนเฟย  ผู้ศักดิ์สิทธิ์  ผู้หาญกล้า  ผู้มีญาณอันวิเศษ  ผู้ปกปักพิทักษ์นักเดินเรือ  ผู้รู้แจ้งเห็นจริงถึงสภาพดินฟ้าอากาศ  ลม  เมฆ  คลื่น  และฝน

 ขออัญเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย  ได้โปรดลงมารับเครื่องสักการะด้วยกำยาน  ธูปหอม  สุราอาหาร  เครื่องเซ่นไหว้  และได้รับรู้ถึงคำวิงวอนของพวกข้า  เพื่อช่วยปกปักพิทักษ์กองเรือของพวกข้าสู่จุดหมายโดยสวัสดิภาพ”        (  ปริวัฒน์  จันทร.    เจิ้งเหอ  แม่ทัพขันที  “ซำปอกง”  ๒๕๔๖  น. ๑๐๐ – ๑๐๑  )

          ในเดือนกรกฎาคม  พ.ศ.  ๑๙๔๘  เริ่มออกเดินทางครั้งแรกจากท่าเรือหลิวเจี่ยกัง  เมืองไท่จาง  มณฑลเจียงซู  ล่องไปทะเลจีนใต้แวะเมืองจัมปาที่เวียดนาม  มะละกา  ชวา  สยามและเข้ากรุงศรีอยุธยาด้วย  สุมาตรา  กาลิกัต และศรีลังกา  ขณะที่เรือกำลังแล่นอยู่ในมหาสมุทรอินเดียหลายวัน และมองไม่เห็นฝั่ง  พวกเขาก็เจอกับพายุร้ายเข้าอย่างจัง  กองเรือเจอคลื่นและพายุใหญ่ น่ากลัวว่าจะทำให้เจือจมได้  บรรดาชาวเรือต่างหมดใจเตรียมตัวตาย  ชาวเรือที่เคารพนับถือเจ้าแม่มาจู่ต่างก็สวดมนตร์อ้อนวอนขอให้เจ้าแม่ช่วยด้วย  ทันใดนั้นเกิดแสงมหัศจรรย์ขึ้นที่เสากระโดงเรือ  เจิ้งเหอได้บันทึกไว้ว่า    “เมื่อแสงมหัศจรรย์ปรากฏขึ้นทันใด  คลื่นลมก็สงบลงฉับพลันทันที”    ด้วยฤทธานุภาพของเจ้าแม่มาจู่ที่พวกเขารอดปลอดภัย  เจิ้งเหอและลูกเรือต่างก็ให้ความเคารพต่อเจ้าแม่มาจู่เป็นอย่างสูงยิ่ง  เมื่อกลับถึงเมืองฝูโจวที่เกาะเหมยโจว ต่างก็เข้าไปกราบเซ่นไหว้ขอบพระคุณต่อเจ้าแม่   การเกิดพายุร้ายเช่นนี้ชาวเรือเชื่อกันว่า  เกิดจากพญามังกรใต้มหาสมุทรกวนน้ำทะเล จนทำให้เกิดลมและคลื่นอย่างรุนแรงจนลมหอบน้ำทะเลเป็นลำพุ่งสู่ท้องฟ้า

          เจิ้งเหอได้กราบบังคมทูลถวายรายงาน การเดินทาง  พระองค์จึงโปรดฯให้สร้างศาลเจ้าแม่มาจู่ขึ้นใหม่  ดังจดหมายเหตุหมิงสือลู่  ระเบียนที่  ๕๔๙  ลงวันที่ ๘  ตุลาคม  พ.ศ.  ๑๙๕๐ ความว่า  ศาลเจ้าแห่งใหม่ของสมเด็จพระจักรพรรดินีแห่งสวรรค์  ที่เมืองหลงเจียงได้สร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว  จูจั่ว ตำแหน่งรองมหาเสนาบดีฝ่ายพระราชพิธีแห่งราชสำนัก  ได้รับพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ไปประกอบพิธีบวงสรวงที่ศาลเจ้าแห่งใหม่แทนพระองค์  ขณะนั้นเจิ้งเหอได้กลับจากการเดินทางครั้งแรก  เขาได้ประสบกับเหตุการณ์ที่เจ้าแม่มาจู่ ได้ช่วยเหลือกองเรือของเขาให้พ้นภัย  จากข้อมูลนี่เองที่ศาลเจ้าได้รับการสร้างขึ้นใหม่   นอกจากนี้เจ้าแม่มาจู่ยังได้รับพระราชทานฐานันดรศักดิ์ให้สูงขึ้นนอกจากสร้างศาลเจ้าให้ใหม่ และพระราชทานนามแล้ว  ยังได้โปรดฯให้บูรณปฏิสังขรณ์ศาลเจ้าดั้งเดิมของเจ้าแม่ที่เกาะเหมยโจวอีกด้วย

         การเดินทางของเจิ้งเหอ    ก่อนออกเดินทางจึงต้องทำพิธีบวงสรวงเซ่นไหว้เจ้าแม่มาจู่ทุกครั้ง  และเมื่อเดินทางกลับก็ทำพิธีเซ่นไหว้ขอบคุณเช่นเดียวกัน   การเดินทางทั้งเจ็ดครั้งของเขา  คือ    ครั้งแรก  พ.ศ.  ๑๙๔๘ – ๑๙๕๐   ครั้งที่สอง พ.ศ.  ๑๙๕๐ – ๑๙๕๒   ครั้งที่สาม พ.ศ.  ๑๙๕๓ – ๑๙๕๔    ครั้งที่สี่ พ.ศ.  ๑๙๕๖ – ๑๙๕๘   ครั้งที่ห้า พ.ศ.  ๑๙๖๐ – ๑๙๖๒   ครั้งที่หก พ.ศ.  ๑๙๖๔ – ๑๙๖๕ และครั้งสุดท้าย พ.ศ.  ๑๙๗๕ – ๑๙๗๖ เป็นสมัยสมเด็จพระจักรพรรดิเหยินจง (  จูเกาซื่อ )

          เจิ้งเหอได้เดินทางเข้ากรุงศรีอยุธยา แห่งสยามประเทศรวมสี่ครั้งจากเจ็ดครั้ง  ครั้งแรกและครั้งที่สองอยู่ในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่สอง  ครั้งที่สามอยู่ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมราชาพุทธางกูร  และครั้งที่สี่อยู่ในรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิขึ้นครองราชย์สมัยแรก

         เจิ้งเหอมีส่วนเกี่ยวข้องกับวัดพนัญเชิงหรือไม่ ?

         วัดพนัญเชิง  ตั้งอยู่ที่ตำบลกะมัง  อำเภอพระนครศรีอยุธยา  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  จากพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐกล่าวไว้ว่า  วัดนี้สร้างเมื่อ พ.ศ.  ๑๘๖๗  ก่อนสร้างกรุงศรีอยุธยา  ๒๖  ปี  มีพระพุทธรูปองค์ใหญ่  หน้าตักกว้าง  ๒๐ เมตร ๑๗  เซนติเมตร  สูง  ๒๐  เมตร  ประดิษฐานอยู่ในพระวิหาร  เป็นพระพุทธรูปปูนปั้น  ปางสมาธิ    สมัยอู่ทอง  ไม่ปรากฏว่าผู้ใดสร้างไว้  ในจดหมายเหตุของแกมเฟอร์กล่าวว่าเป็นพระพุทธรูปของมอญ  ในหนังสือภูมิสถานอยุธยากล่าวว่า  เป็นวัดของพระเจ้าสามโปเตียน           เข้าใจกันว่านามนี้น่าจะเพี้ยนมาจากคำว่า  ซำปอกง  ซึ่งแปลว่า  รัตนตรัย  แต่จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ยังไม่พบพระนามกษัตริย์พระองค์นี้  พระพุทธรูปองค์นี้ชาวจีนนับถือกันมาก  เรียกกันว่า  ซำปอกง   ส่วนคนไทยทั่วไปเรียกว่า  หลวงพ่อโต  หรือ หลวงพ่อพนัญเชิง  พระพุทธรูปองค์นี้ได้บูรณะหลายครั้ง  คือ  สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช  และพระมหากษัตริย์องค์อื่นๆติดต่อกันมา  จนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  โปรดฯให้บูรณปฏิสังขรณ์ทั้งองค์  พ.ศ.  ๒๓๙๗  ได้พระราชทานนามว่า    “พระพุทธไตรรัตนายก”    ต่อมาเกิดไฟไหม้ผ้าห่มองค์พระ  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯให้ซ่อมใหม่   ปี พ.ศ. ๒๔๗๒  ซ่อมแซมและเปลี่ยนพระอุณาโลมจากทองแดงเป็นทองคำหนัก ๕๗ บาท   ใน พ.ศ. ๒๔๙๔  กรมศิลปากรได้ซ่อมใหม่อีกครั้ง

            พระราชพงศาวดารกล่าวว่า  สมัยเสียกรุงศรีอยุธยา  พ.ศ.  ๒๓๑๐  พระพุทธรูปองค์นี้มีน้ำพระเนตรไหลออกมาทั้งสองข้างถึงพระนาภี

            จากจดหมายเหตุราชวงศ์หมิง ชื่อ  หมิงสือลู่  ได้บันทึกไว้ว่า  ราชทูตเซียนหลอ ( สยาม ) ได้เดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีกับราชสำนักจีนหลายครั้ง  ชื่อราชทูตที่น่าสนใจ  คือ  ไน่อุน  ไน่เจี๋ยจี๋หลิง  ไน่เหวินลี่หลอ  ไน่ซานตั๋วไหม่  ไน่บี๋หลิน  ไน่อิ่งเจ่อเผ่งซา  ไน่ลาเผ่งซา  เป็นต้น  คำว่า ไน่  คือ  นาย  ซึ่งเป็นบรรดาศักดิ์ชั้นสูงในสมัยนั้น  จากกฎหมายว่าด้วยตำแหน่งนาพลเรือนและทหาร  บรรดาศักดิ์  นาย  เช่น  นายอินรักษา  นายไชยราช  นา ๖๐๐  นายศรีภักดี  นายชาติภักดี  นา  ๕๐๐  เป็นต้น 

         เมื่อเจิ้งเหอเป็นราชทูตเข้ามาสยาม  ชาวสยามหรือทางราชสำนักสยามอาจเรียกท่านว่า  นายเชิง  (  เดิมเขียน  Cheng  Ho  -  เชิงโห  ขณะนี้ใช้  Zheng  He  -  เจิ้งเหอ  )

            ดังนั้น   วัดนายเชิง  จึงน่าจะเป็นวัดที่เจิ้งเหอได้บูรณปฏิสังขรณ์ขึ้น  ระหว่างที่เขาเดินทางเข้ามากรุงศรีอยุธยาสี่ครั้ง  วัดนี้เข้าใจกันว่าเป็นวัดอโยธยา  โดยรวมวัดเก่าสี่วัด  คือ วัดรอ วัดโคก วัดขอม วัดมณฑป   บูรณะขึ้นใหม่ เรียกกันว่า  วัดเดิม   เมื่อเจิ้งเหอได้บูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นแล้ว  ชาวบ้านจึงเรียกว่า วัด นายเชิง                 ชาวจีนนับถือต่อกันมาและเรียกว่า  ซำปอกง ซึ่งเป็นบรรดาศักดิ์ขันทีของเจิ้งเหอ

           คำว่า  วัดนายเชิง  ต่อมาเพี้ยนเป็น -  วัดพระนายเชิง  -  วัดพระนางเชิง  และจดหมายเหตุตอนเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งสุดท้ายบันทึกเป็น - วัดเจ้าพระนางเชิง -  วัดพแนงเชิง  -  แล้วกลายเป็นวัดพนัญเชิง  ในปัจจุบัน

           นอกจากสร้างวัดแล้ว  เจิ้งเหอยังได้สร้างศาลเจ้าแม่มาจู่ไว้ด้วย  เพื่อไว้สักการะเซ่นไหว้ก่อนเดินทางออกจากกรุงศรีอยุธยา  ศาลเจ้าแห่งนี้เรียกว่า  จูแซเนี้ย  หมายถึง  เจ้าแม่แห่งความเมตตาปราณี   กล่าวกันว่า  เจิ้งเหอแวะเมืองใดจะสร้างศาลเจ้าแม่มาจู่ไว้เสมอ  ศาลเจ้าแห่งนี้อาจมีการบูรณะซ่อมแซมมาหลายยุคสมัยจนที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน

         จิตรา   ก่อนันทเกียรติ  (  ทำเนียบเจ้าแม่และผู้วิเศษของจีน  ๒๕๔๔  :  น. ๖๘ –  ๖๙ ) ได้สรุปปาฏิหาริย์การช่วยเหลือแก่บุคคลต่างๆ  ดังนี้

    **       ๑.  การช่วยคนประสบภัยทางน้ำ

                ๑.๑   การช่วยพ่อและพี่ชาย

                ๑.๒  ช่วยพ่อค้าประสบภัยทางทะเลหลายครั้ง

                ๑.๓   ช่วยคนเรือเสีย  เรือแตกหลายครั้ง

                ๑.๔  ใช่ร่างเจ้าแม่ถ่วงเป็นสมอเรือ

                ๑.๕  ทรงชุดแดงช่วยทูตลู่ลุ่นตี้  เมื่อ พ.ศ. ๑๖๖๕

                ๑.๖   ช่วยขันทีซำปอกงระหว่างนำกองเรือเดินทางไปในดินแดนไกลโพ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๙๔๘

                ๑.๗  ช่วยญี่ปุ่นเรือแตก

                ๑.๘  เป็นหางเสือเรือในราตรีแก่ผู้ประสบภัย

                ๑.๙  ช่วยลากเรือเข้าคุ้งน้ำ

      ๒.  การช่วยชาวบ้านในเรื่องวิถีชีวิตและการทำมาหากิน

            ๒.๑   ช่วยชาวเกาะหมีจิวเรื่องการเกษตรกรรม

           ๒.๒   ช่วยให้ฝนที่แล้งให้ตกหลายครั้ง

           ๒.๓   ช่วยหยุดฝนที่กระหน่ำตกนานเกินไปหลายครั้ง

           ๒.๔   ช่วยหาตาน้ำในดินแดนที่แล้งหลายครั้ง

           ๒.๕   ช่วยสร้างทำนบกั้นน้ำ

           ๒.๖   ช่วยขุดบ่อน้ำ

           ๒.๗   บันดาลท้องฟ้าให้ปลอดโปร่ง

           ๒.๘   บอกให้ชาวบ้านรู้ล่วงหน้าถึงน้ำขึ้นน้ำลง

    ๓.   การช่วยชาวบ้านในเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ  จะมีหลายครั้งมาก

    ๔.   การช่วยบรรเทาทุกข์ชาวบ้านในเรื่องโจรภัยมี ๒ – ๓ ครั้ง

    ๕.   ปาฏิหาริย์ในสิ่งลี้ลับมีหลายครั้ง

           ๕.๑   การมาเฝ้าของพญามังกร

           ๕.๒   ได้ ๒ บริวารตาทิพย์เห็นไกลพันลี้และหูทิพย์ฟังไกล

           ๕.๓   ได้องครักษ์  ๑๘  แม่ทัพเทวดา

           ๕.๔   ช่วยไล่ผีให้ชาวบ้าน

           ๕.๕   จับอสูร

           ๕.๖   จับ  ๕ ผีร้าย   **

         มีเรื่องเล่าว่า  ครั้งหนึ่งเมื่อเรือหาปลาออกเรือจากสมุทรสาครสู่น่านน้ำ  ลูกเรือชาวพม่าคนหนึ่งได้ปรามาสถึงความเชื่อเกี่ยวกับเจ้าแม่เรื่องลมฝนและพายุ  ไต้ก๋งเรือห้ามไว้  แต่ก็สายไปเสียแล้ว  ทันใดนั้นเกิดเสียงฟ้าคะนอง  ลมฝนกระหน่ำลงมา  ทั้งๆที่ครั้งแรกท้องฟ้าโปร่งใส  แต่ละคนต่างอกสั่นขวัญหาย   ขอขมาลาโทษเจ้าแม่   เมื่อเรือเทียบท่าสะพานปลา  ต่างก็มุ่งไปที่ศาลเจ้าแม่ทับทิม       กราบไหว้ขอโทษที่ได้กล่าวล่วงเกินท่าน

         ปัจจุบันเมื่อมีการสร้างตลาดสดแห่งใหม่  จะมีการสร้างศาลเจ้าแม่ทับทิมขึ้น  เพื่อขอพรท่านให้ช่วยอำนวยพรในการค้าขายที่ตลาดสดให้คล่องเจริญรุ่งเรือง  ด้านหน้าศาลเจ้ามีแผ่นป้ายจารึกว่า  ศาลเจ้าแม่ทับทิม  บรรดาผู้ค้าขายต่างกราบไหว้บูชาเพื่อทำมาค้าคล่องทุกวัน

 

 

               :     สมบูรณ์ แก่นตะเคียน   ๑๒ เมษายน ๒๕๕๑

       

 

 

 

 

 

 

 

Title       :    She was 27 years old and passed away.

 

 

 

             :    Somboon Kantakian                

 

 

     

บทความอื่นๆ ในหมวดเดียวกัน