พระไต้ฮงโจวซือ 大峰祖师

พระไต้ฮงโจวซือ หรือ พระไต้เฟิ่งจวี่ซือ 大峰祖师 หรือ พระไต้ฮงกง หรือ พระไต่ฮงจ้อซื่อ หรือ พระไต้ฮงโจวซือมหาเถระ หรือ พระไต้ฮงโจวซือฮุดจ้อ หรือ พระไต้ฮงโจวซือกง เป็นพระสงฆ์พระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ผู้เพียบพร้อมด้วยคุณธรรม เมตตาธรรม จริยธรรมอันสูงยิ่ง ที่ก่อให้เกิดคำว่า ป่อเต็กตึ๊ง ซึ่งแปลว่า การสนองพระคุณ ที่เป็นที่รู้จักกันดี
พระไต้ฮงกง เดิมมีนามว่า เอ้อ เป็นคนแซ่หลิน (หลิม ลิ้ม ) เป็น หลินเอ้อ ถือกำเนิดเมื่อ พ.ศ. ๑๕๘๒ ที่เมืองเวินโจว มณฑลเจ้อเจียง ตรงกับรัชสมัยฮ่องเต้ซ่งเหรินจง ( จ้าวเจิน ) แห่งราชวงศ์ซ่งเหนือ ในปีเป่าเอวี๋ยนที่ ๑ หลินเอ้อถือกำเนิดในครอบครัวที่มีฐานะและการศึกษา เพราะเมืองเวินโจวเป็นเมืองการศึกษาที่ผลิตนักการศึกษา นักปรัชญา กวี จิตรกรเส้นสายลายอักษร นักปกครอง และนักเขียน ที่มีชื่อเสียงหลายคนตั้งแต่สมัยราชวงศ์จิ้นเป็นต้นมา หลินเอ้ออยู่ในครอบครัวและสิ่งแวดล้อมที่ดี ประกอบกับเป็นเด็กที่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด สามารถศึกษาเรื่องราวต่างๆทั้งฝ่ายบุ๋นและฝ่ายบู๊ได้อย่างแตกฉาน เพราะมีความจำเป็นเลิศ
เมื่ออยู่ในวัยหนุ่ม จึงได้เข้าสมัครสอบแข่งขันรับราชการเช่นเดียวกับบรรพบุรุษของตน โดยเข้าสอบ ระดับอำเภอ ระดับมณฑล เขาสอบผ่านทุกระดับ การสอบจอหงวนนั้น เป็นการเรียกการสอบทั่วๆไป การสอบคัดคนเข้ารับราชการเพื่อเป็นขุนนางเจ้าคนนายคน เหนือกว่าราษฎรสามัญทั่วไป ได้เริ่มมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่น ( พ.ศ. ๓๓๗ ๗๖๓ ) มาแล้ว พอถึงสมัยราชวงศ์สุย ( พ.ศ. ๑๑๒๓ ๑๑๘๑ ) ได้มีการวางรากฐานการสอบคัดคนเข้ารับราชการ ในสมัยราชวงศ์ถัง ( พ.ศ. ๑๑๘๑ ๑๔๕๐ ) ได้มีการปรับปรุงวิธีการสอบให้รัดกุมขึ้น และราษฎรได้ให้ความสนใจสมัครสอบกันมาก แต่จำนวนผู้สอบไล่ได้มีจำนวนน้อย ข้อสอบที่ออกเป็นประเภทการแต่งโคลงกลอน และการท่องจำเป็นหลัก เมื่อผ่านการสอบรอบแรกแล้ว ทางการจะขึ้นบัญชีผู้สอบได้ แต่ยังไม่มีตำแหน่งบรรจุให้ เพียงแต่มีคุณสมบัติที่สามารถเข้ารับราชการได้เท่านั้น คนเหล่านี้จะมีฐานะทางสังคมสูงกว่าสามัญชน
การสอบจอหงวนสมัยราชวงศ์ซ่ง ( พ.ศ. ๑๕๐๓ ๑๘๒๓ ) เป็นสมัยที่รุ่งเรืองมาก มีการปรับปรุงการสอบโดยเพิ่มการสอบต่อหน้าพระที่นั่งด้วย ช่วงนั้นผู้เข้าสอบต่างมีความรู้สึกว่า คณะกรรมการสอบมีพระคุณต่อพวกตนมากกว่าองค์พระจักรพรรดิเสียอีก เพราะทำให้พวกตนได้เป็นขุนนางรับราชการมีหน้ามีตาในสังคม วิธีการสอบสมัยนี้ใช้วิธีสอบคัดเลือกมาจากระดับอำเภอเป็นเบื้องต้น แล้วไปสอบระดับมณฑล ผู้ที่สอบไล่ได้ที่หนึ่งในระดับมณฑลอาจไม่ได้ที่หนึ่งเมื่อสอบต่อหน้าพระที่นั่งก็ได้ ผู้ที่สอบได้ที่หนึ่งต่อหน้าพระที่นั่งเรียกว่า จิ้นสือ ถือว่าเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ ผู้ที่ได้ที่สองเรียกว่า จางอั้น ผู้ได้ที่สามเรียกว่า ตันฮวา เมื่อมีการสมัครสอบกันมากแต่มีตำแหน่งบรรจุน้อย ผู้เข้าสอบบางคนต่างหาวิธีโกงข้อสอบ คณะกรรมการการสอบจึงคุมเข้ม และเพื่อไม่ให้คณะกรรมการตรวจข้อสอบ ทราบว่าเป็นข้อสอบของใคร จึงมีการลอกคำตอบให้ตรวจ ปิดหัวกระดาษชื่อผู้สอบแล้วใช้รหัสตัวเลขแทน ส่วนเนื้อหาข้อสอบสมัยนี้ ได้เน้นการเมืองและการปกครอง แต่ก็ยังมีการสอบคำโคลงกลอนและการท่องจำ ส่วนการสอบต่อหน้าพระที่นั่งจะมีผู้แทนพระองค์มาเป็นประธาน คณะกรรมการตรวจข้อสอบจะลำดับคะแนนรายชื่อ ทูลเกล้าฯถวายฮ่องเต้ทรงพิจารณาตัดสินว่า ใครจะได้เป็นที่หนึ่งของประเทศและตามลำดับ การสอบในสมัยราชวงศ์ซ่ง จึงเป็นสมัยหนึ่งที่มีความยุติธรรมสูง ทำให้แซ่สกุลที่ไม่เคยได้รับราชการในเมืองหลวงสามารถสอบเข้ารับราชการได้ หลินเอ้อ ผู้มีความสามารถ จึงสอบผ่านขั้นสุดท้ายและได้ ระดับ จิ้นสือ ซึ่งมีคนเดียวในปีนั้น
หลินเอ้อจึงเข้ารับราชการในราชสำนักซ่ง ได้ระยะหนึ่ง ฮ่องเต้ซ่งฮุยจง ( จ้าวจี๋ ) ในปีฉงหนิงที่ ๒ เมื่อ พ.ศ. ๑๖๔๖ โปรดเกล้าฯให้ไปรับตำแหน่งนายอำเภอ เมื่ออายุได้ ๕๔ ปี สภาพการเมืองภายในราชสำนักไม่ปกติ ด้วยฮ่องเต้ฮุยจงทรงเก่งแต่ด้านศิลปะและวรรณกรรม ไม่ทรงบริหารบ้านเมืองทางทหารให้เข้มแข็ง จึงเกิดศึกสงครามระหว่างชาติเพื่อนบ้าน คือ พวกซี่ตันกับพวกหนี่เจิน เมื่อพระองค์บริหารบ้านเมืองผิดพลาด ราชวงศ์ซ่งเหนือจึงล่มสลาย ฝ่ายหลินเอ้อรับราชการเป็นนายอำเภอได้ระยะหนึ่ง ท่านเห็นว่าบ้านเมืองที่ยุ่งเหยิงด้วยฮ่องเต้ทรงอ่อนแอในการปกครอง เมื่ออายุมากเข้า ท่านจึงลาออกจากราชการ แล้วทำการศึกษาพระธรรมทางพระพุทธศาสนา ที่ท่านได้ศึกษามาก่อนแล้ว จึงเห็นว่าเป็นทางหนึ่งที่จะสามารถดับทุกข์และช่วยเหลือประชาชนได้ดีกว่าการเป็นขุนนางด้วยซ้ำ
หลินเอ้อจึงเข้าวัดแห่งหนึ่งในเมืองเวินโจว แล้วขอบวชเป็นพระสงฆ์ เป็นพระหลินเอ้อ ตามความตั้งใจของท่าน จึงได้เริ่มศึกษาข้อธรรมะอย่างแตกฉาน พร้อมกันนี้ท่านได้แสดงความเมตตาแก่ผู้ยากไร้ด้วยการสร้างอาคารโรงทาน ท่านมีพื้นความรู้ทางยาสมุนไพร จึงรักษาผู้ป่วยไข้ที่ยากจน เมืองเวินโจวมีแม่น้ำที่ไหลคดเคี้ยวไปออกเมืองหางโจวทางทิศตะวันตก ส่วนทางตะวันออกมีชายฝั่งทะเลยาวกว่าสามร้อยกิโลเมตร เมื่อเกิดอุทกภัย ผู้คนล้มตายและยากไร้จำนวนมาก ท่านจึงช่วยเก็บศพไร้ญาติเอาไปฝัง และเลี้ยงดูคนเหล่านั้น จนกว่าพวกเขาจะช่วยตัวเองได้
ต่อมาในปีรัชกาลฮ่องเต้ฮุยจง ปีเซวียนเหอที่ ๒ พ.ศ. ๑๖๖๓ ซึ่งเข้าใจว่า พระหลินเอ้อคงได้รับสมณศักดิ์แล้วเป็น พระไต้ฮงโจวซือ ขณะที่ท่านอายุ ๘๑ ปี ด้วยความจำเป็นบางประการ ท่านจึงเดินทางธุดงค์ทางเรือโดยออกจากเมืองเวินโจว ไปยังมณฑลกว่างตง เข้าทางแม่น้ำจวีเจียง ทวนน้ำขึ้นไปทางแม่น้ำเป่ยเจียง แล้วเข้าสู่แม่น้ำเหลียนเจียง ตลอดระยะทางท่านได้เห็นสิ่งที่อยากจะทำอีกเป็นจำนวนมาก ท่านได้จำวัดที่วัดเหลงกั๊วโกวยี่ในเขตเป่ยซานอยู่ระยะหนึ่ง แล้วจึงเดินทางต่อไปยังวัดเมี่ยนอันกวน ในตำบลเหอผิง หรือฮั่วเพ้ง เขตอำเภอเฉาเอี๋ยว หรือเตี้ยเอี้ย ซึ่งมีแม่น้ำเหลียนเจียงไหลผ่าน
แม่น้ำเหลียนเจียง หรือชื่อเดิมว่าแม่น้ำหวงชวน เกิดจากภูเขาหงเอี๋ยน ที่ตำบลซิงจื่อ ไหลลงสู่ตัวเมืองเหลียนโจว เอี๋ยงซาน และอิงเต๋อ ก่อนที่จะไหลไปรวมกับแม่น้ำเป่ยเจียง จากภูเขาหงเอี๋ยนถึงปากแม่น้ำเหลียนเจียง ความยาวประมาณ ๑๘๐ กิโลเมตร สภาพน้ำใสสะอาดดังกระจก มีแก่งที่สวยงามสามแห่ง แต่ในช่วงฤดูน้ำหลาก หรือถูกพายุไต้ฝุ่นพัดเข้าจากทะเลจีนใต้ ทำให้เกิดน้ำหลากและท่วมฉับพลัน ผู้คนและสัตว์ล้มตายลงเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในช่องเขาที่แม่น้ำไหลผ่าน จึงพัดพาเอาทั้งซากคนซากสัตว์ไหลลงสู่ปากน้ำเหลียนเจียง ช่วงที่บรรจบกับแม่น้ำเป่ยเจียงแล้วไหลสู่แม่น้ำจวีเจียงหรือแม่น้ำไข่มุก นอกจากนี้สมัยโบราณแม่น้ำเหลียนเจียง ยังเป็นสายน้ำลำเลียงสินค้าต่างๆ เฃ่นพวกเครื่องเคลือบและอื่นๆ เมืองเหลียนเจียงเป็นศุนย์กลางถ่ายเทสินค้าแห่งหนึ่ง เรือที่ทวนน้ำและล่องน้ำในฤดูน้ำหลากหรือพายุ จึงเกิดล่ม เมื่อไม่นานมานี้นักวิชาการจีนได้พบเรือสินค้ายาวถึง ๓๐ เมตรสร้างในสมัยราชวงศ์ซ่งล่มในแม่น้ำเหลียนเจียงถูกฝังลึกประมาณสามเมตร มีสินค้าพวกเครื่องเคลือบและอื่นๆจำนวนมากมีค่ามหาศาล โดยเฉพาะเรือที่มีขนาดยาวและใหญ่ในสมัยโบราณหายากจากทั่วโลก
แม่น้ำเหลียนเจียงช่วงแรกจะแคบด้วยภูเขา เมื่อแม่น้ำไหลสู่พื้นที่ราบลุ่มกว้างใหญ่ จึงทำให้แม่น้ำกว้างกว่า ๓๐๐ วา ยากต่อการพายเรือข้าม ยิ่งในฤดูน้ำหลากน้ำท่วมไหลแรง เรือไม่สามารถข้ามได้เลย ทำให้พระไต้ฮงโจวซือเกิดแนวความคิดที่จะสร้างสะพานข้ามให้ได้ ท่านจึงได้ริเริ่มออกแบบแปลนตัวสะพาน แล้วเดินทางไปยังเมืองฝูโจว มณฑลฝูเจี้ยน ( ฮกเกี้ยน ) เพื่อศึกษาวิธีก่อสร้างสะพาน พร้อมกับบอกบุญเรี่ยไรปัจจัยจากผู้มีจิตศรัทธา และหาแหล่งวัสดุก่อสร้างสะพาน ได้แก่ พวกก้อนหินขนาดใหญ่ และหินขนาดต่างๆอิฐปูน ฯลฯ ตลอดจนช่างผู้ชำนาญการก่อสร้างสะพาน ท่านใช้เวลาศึกษาอยู่ถึง ๕ ปีจึงตัดสินใจสร้างพร้อมกับพระเณรและญาติธรรมที่อุทิศตนเป็นแรงกาย โดยตกลงสร้างที่ตำบลเหอผิง อำเภอเฉาเอี๋ยว ชื่อสะพาน เหอผิงเฉียว ตามตำบล เข้าใจว่าสะพานเริ่มก่อสร้างเมื่อประมาณ พ.ศ. ๑๖๖๘ สะพานได้ก่อสร้างไปได้ ๒ ปี รวม ๑๖ ช่วงในแม่น้ำ เหลือแต่ช่วงสองฝั่งต่อหัวท้าย ในปีพ.ศ. ๑๖๗๐ พระไต้ฮงโจวซือก็มรณะลง เมื่ออายุได้ ๘๘ ปี ตรงกับรัชสมัยฮ่องเต้ซ่งชินจง ( จ้าวหวน ) ในปีจิ้งคางที่ ๓ องค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์ซ่งเหนือ การก่อสร้างสะพานก็หยุดชะงักไปเป็นเวลาถึง ๒๖ ปีด้วยบ้านเมืองเกิดศึกสงคราม
ต่อมาคณะศิษย์ที่เป็นพระสงฆ์และฆราวาส ต่างร่วมแรงร่วมใจกันสานต่อจนเสร็จสิ้น ประมาณ พ.ศ. ๑๖๙๖ สมัยฮ่องเต้ซ่งกาวจง ( จ้าวโก้ว ) แห่งราชวงศ์ซ่งใต้ ในปีเส้าซิงที่ ๒๓ สะพานเหอผิงเฉียวได้ใช้ประโยชน์ต่อเนื่องกันมาจนถึงปัจจุบัน กว่า ๘๕๕ ปีมาแล้ว
ในช่วงที่ท่านได้พำนักอยู่ที่ตำบลเหอผิง การปฏิบัติศาสนกิจของท่าน ตลอดจนการช่วยเหลือผู้ทุกข์ยากท่านก็มิได้ว่างเว้น ท่านและหมู่พระสงฆ์ตลอดจนฆราวาสต่างช่วยกันเก็บศพที่ลอยมาในแม่น้ำเหลียนเจียงหลากหลายสภาพเอาไปฝัง สร้างโรงทาน ช่วยรักษาพยาบาลผู้เจ็บป่วย ช่วยผู้ทุกข์ยากในฤดูน้ำหลากและน้ำท่วมในแต่ละปีมิได้ขาด จนถึงแก่มรณภาพตามอายุขัย
ภายหลังจากที่บรรดาศิษย์จัดงานศพ พระไต้ฮงโจวซือเรียบร้อยแล้ว จึงรวมพลกันจัดตั้ง คณะไต้ฮงกง ขึ้นเพื่อสานต่อปณิธานของท่านด้วยการเก็บศพลอยน้ำ ศพไร้ญาติเอาไปฝัง ช่วยรักษาโรคภัยแก่ชาวบ้าน สร้างถนน ซ่อมแซมถนนทางเท้า ซ่อมสะพาน สร้างศาลา เป็นต้น
ส่วนที่กรุงเทพฯ เมื่อนายยุ่น แซ่เบ๊ ชาวจีนผู้ทำมาหากินที่กรุงเทพฯแล้วกลับไปบ้านที่อำเภอเฉาเอี๋ยว มณฑลกว่างตง ขากลับ ได้นำรูปแกะสลักไม้พระไต้ฮงโจวซือมาด้วย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๙ โดยนำมาประดิษฐานที่ร้านรับทำกรอบรูปกระจกชื่อ ร้านย่งซุ่นเชียง อยู่ข้างวัดราชบูรณะหรือวัดเลียบ บังเอิญในช่วงนั้นเกิดโรคระบาดขึ้นในกรุงเทพฯ ได้มีชาวบ้านคนจีนที่เคารพศรัทธาต่างพากันไปขอยารักษา ต่างหายจากโรค จากปากต่อปากบอกเล่ากันไป ทำให้ร้านกระจกเกือบจะกลายเป็นศาลเจ้าไป ประกอบกับสถานที่คับแคบด้วย
บรรดาเถ้าแก่จึงคิดกัน ย้ายองค์เทพเจ้าไต้ฮงกงไปประดิษฐานที่ศาลเจ้าชั่วคราวแถวข้างโรงหนังพัฒนากร ถนนเจริญกรุง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๕ เถ้าแก่พ่อค้าจีน ๑๒ คนโดยมีนายแต้ตี้ย่ง หรือ พระอนุวัฒน์ราชนิยม ( ผู้เป็นต้นตระกูลเตชะวณิชย์ ) เป็นหัวหน้าจึงหาสถานที่ถาวร รวบรวมเงินบรรดาผู้มีจิตศรัทธา ซื้อที่ดิน แถบถนนพลับพลาไชย จำนวน ๓ งาน ๖๖ ตารางวา สร้างศาลเจ้าตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๒ ๒๔๖๑ บรรดาผู้ที่เคารพพระไต้ฮงกงที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ จึงดำเนินการตามปณิธานขององค์ท่านด้วยการจัดตั้งกลุ่มขึ้นเรียกว่า คณะเก็บศพไต้ฮงกง เพื่อเก็บศพที่ไร้ญาติ ศพที่เกิดจากภัยพิบัติต่างๆ แล้วนำไปฝังไว้ที่ งี่ซั้วเต๊ง หรือป่าช้าวัดดอน เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบ จึงได้พระราชทานเงิน ปีละ ๒,๐๐๐. บาทให้กับคณะเก็บศพไต้ฮงกง
ต่อมาคณะเก็บศพไต้ฮงกง โดยมีคณะกรรมการได้ขอจดทะเบียนจัดตั้งเป็นมูลนิธิขึ้น เมื่อ วันที่ ๒๐ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๐ ชื่อมูลนิธิ ฮั่วเคี้ยวป่อเต็กตึ๊งเซียงตึ๊ง แปลว่า ศาลสนองพระคุณชาวจีนโพ้นทะเล พร้อมกับดูแลพัฒนาบูรณะซ่อมแซมศาลเจ้าไต้ฮงกงจนเสร็จสิ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๗
พระไต้ฮงโจวซือ ผู้เป็นพระสงฆ์ที่มีเมตตาธรรมอย่างสูง จนผู้คนเลื่อมใสศรัทธาในจริยวัตรของท่านและปฏิบัติตาม ได้กระจายแนวความคิดไปหลายประเทศ สำหรับในประเทศไทยจะเห็นคณะเก็บศพในหลายจังหวัดที่ได้ดำเนินตามรอยพระองค์ท่าน
: สมบูรณ์ แก่นตะเคียน ๑๕ เมษายน ๒๕๕๑
Title : Tai Feng Zushi
: Somboon Kantakian
|