|
|
จิ้นอ้านหวาง 晋安王
.gif)
หลิมลกกง หรือ หลินลู่กง 林禄公 หรือ หลินโหวไท่โส่ว หรือ จิ้นอ้านหวาง หรือ จิ้นอานอ๋อง 晋安王 หรือ หลิมฮู้อ๋องเอี๋ย เดิมท่านชื่อ ลู่ ( ลก ) แซ่หลิน ( หลิม ) บิดาชื่อ หลินอิ่ง มารดาชื่อ ปิ่นซื่อ บิดาไปรับราชการที่เมืองจีหนาน ( อยู่ในมณฑลซานตงในปัจจุบัน ) ได้ให้กำเนิดบุตรชายสองคน คนพี่ชื่อ หลินมู่ ( หลิมมก ) ถือกำเนิดเมื่อ พ.ศ. ๘๑๕ คนน้องชื่อ หลินลู่ ถือกำเนิดเมื่อวันที่ ๓ ค่ำ เดือน ๔ ( บางตำนานถือเอา วันที่ ๑ ค่ำ เดือน ๑ ) ตามจันทรคติจีน เป็นปีไท่สื่อที่ ๑๐ รัชสมัยฮ่องเต้จิ้นอู่ตี้ ( ซือหม่าเอี๋ยน ) แห่งราชวงศ์จิ้นตะวันตก เมื่อ พ.ศ. ๘๑๗ และสืบลำดับแซ่หลินเป็นรุ่นที่ ๖๔ จากปิเจียนกง ผู้เป็นต้นแซ่หลิน ต่อมาบิดาย้ายมารับราชการที่เมืองซูโจว และเมื่อ พ.ศ. ๘๒๐ โปรดเกล้าฯให้บิดาย้ายเข้าเมืองหลวงลั่วหยาง เพื่อรับตำแหน่ง หวงเหมินซื่อหลาง นายทหารรักษาพระองค์ ส่วนหลินลู่เข้ารับราชการทหารเมื่ออายุได้ ๑๖ ปี ใน หลงเยี่ยอ๋อง ( ซือหม่ารุ่ยอ๋อง ประสูติ พ.ศ. ๘๑๙ โอรสฮ่องเต้จิ้นอู่ตี้ ) จนถึง พ.ศ. ๘๓๓ ฮ่องเต้จิ้นอู่ตี้เสด็จสวรรคต ซือหม่าจงอ๋อง เสด็จขึ้นครองราชย์เป็น ฮ่องเต้จิ้นฮุ่ยตี้
สภาพบ้านเมืองหลังยุคสามก๊กสงบไปได้หน่อยหนึ่ง ในสมัยฮ่องเต้จิ้นอู่ตี้ แต่หลังจากนั้น พวกแซ่ซือหม่าอ๋องที่เป็นข้าหลวงอยู่หัวเมืองและภายในเมืองหลวงต่างแย่งกันเป็นใหญ่ นอกจากนี้พวกชนเผ่าทางภาคเหนือที่เรียกว่า พวกอู่หูคนเถื่อนอพยพเข้าภาคกลางลงไปภาคใต้เป็นล้านคน บ้านเมืองวุ่นวายเพราะหัวหน้าชนเผ่าเป็นขบถ ต่างยกตนเป็นอ๋องสร้างอาณาจักรด้วยการตีเมืองที่อ่อนแอกว่า ในเมืองหลวงพวกราชสกุลซือหม่าต่างฆ่าฟันกันเองระหว่างญาติ หลงเยี่ยอ๋องจึงตัดสินใจอพยพไปสมทบกับซือหม่าอุย ซึ่งเป็นที่ ตงไห่อ๋อง ที่ภูเขาจิ่วหลงซาน แล้วอพยพไปตั้งหลักที่เมืองซูโจว หลงเยี่ยอ๋องโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้หลินลู่ ดำรงตำแหน่ง หวงเหมินซื่อหลาง นายทหารรักษาพระองค์
ข้างพวกซือหม่าอ๋องยกทัพเข้าเมืองลั่วหยาง จนฮ่องเต้จิ้นฮุ่ยตี้เสด็จหนีไปประทับที่เมืองฉางอาน ตงไห่อ๋องและหลงเยี่ยอ๋องต้องยกทัพจากเมืองซูโจวไปปราบพวกอ๋องและนายพลที่คุมฮ่องเต้อยู่ แล้วเชิญเสด็จให้ไปประทับที่ลั่วหยางตามเดิม หลินลู่ได้ตามเสด็จหลงเยี่ยอ๋องเข้าร่วมรบด้วย เมื่อจัดการบ้านเมืองเรียบร้อยแล้ว หลงเยี่ยอ๋องพร้อมด้วยหลินลู่กลับสู่ซูโจว
หลินลู่ได้ภรรยาชื่อ จางซื่อ มีบุตรชาย ๕ คน เมื่อเติบใหญ่ต่างเข้ารับราชการมีชื่อเสียงเป็นที่กล่าวขานทั่วไปว่า ห้าอาชารุ่งโรจน์ทางใต้ ของฝั่งแม่น้ำแยงซีเกียง
ส่วนตงไห่อ๋องไม่พอใจที่ฮ่องเต้จิ้นฮุ่ยตี้โปรดเกล้าฯให้ซือหม่าอ๋อง ๕ องค์เข้ามารับราชการในเมืองหลวง จึงลอบปลงพระชนม์เสด็จสวรรคตเมื่อ พ.ศ. ๘๔๙ ขณะนั้นหลินลู่อายุได้ ๓๒ ปี
ซือหม่าซื่ออ๋องเสด็จขึ้นครองราชย์เป็น ฮ่องเต้จิ้นไหวตี้ พระองค์ทรงพระปรีชาสามารถเฉลียวฉลาด โปรดเกล้าฯให้ หลงเยี่ยอ๋อง เป็นผู้สำเร็จราชการเมืองเจี้ยนเยี่ย ( นานกิง ) ข้างหลิวเอียน หัวหน้าชนเผ่าซวงหนูตั้งตนเป็นเจ้าตั้งอาณาจักรฮั่น ( จ้าว ) ยกมาตีเมืองลั่วหยางเผาเมืองเสียสิ้น แล้วจับฮ่องเต้จิ้นไหวตี้ไปเมืองจ้าว พระองค์เสด็จสวรรคตที่นั่นซือหม่าเยี่ยอ๋อง เสด็จขึ้นครองราชย์เป็น ฮ่องเต้จิ้นหมิ่นตี้ เมื่อ พ.ศ. ๘๕๖ ขณะที่หลินลู่อายุได้ ๓๙ ปี โปรดเกล้าฯให้หลงเยี่ยอ๋องเป็น พระมหาอุปราช หลงเยี่ยอ๋องรับสั่งให้เอียนก้วนนายพลทหารยกทัพไปตีเมืองปาถง ซึ่งมี โต้ทาวเป็นเจ้าเมือง หลินลู่ในฐานะนายทหารเข้าร่วมรบด้วย จนได้รับชัยชนะ หลงเยี่ยอ๋องโปรดเกล้าฯให้บำเหน็จนายทหารเลื่อนยศตามความชอบ หลินลู่ได้เลื่อนยศเป็น นายพลจาวเอี๋ยน
ข้างหลิวเอียนยกทัพเข้าตีเมืองฉางอานแตก จับฮ่องเต้จิ้นหมิ่นตี้ไปเมืองจ้าว ในช่วงนั้นรับสั่งถึงหลงเยี่ยอ๋องขอให้ยกตนเป็นฮ่องเต้เสียในฐานะพระมหาอุปราช แต่หลงเยี่ยอ๋องขอเป็นเพียง จิ้นอ๋อง หลังจากเสด็จสวรรคตที่เมืองจ้าวแล้วหลงเยี่ยอ๋องจึงเสด็จขึ้นครองราชย์เป็น ฮ่องเต้จิ้นเอียนตี้ เป็นปฐมราชวงศ์จิ้นตะวันออก เมื่อ พ.ศ. ๘๖๐ แล้วโปรดฯให้สร้างพระราชวังขึ้นใหม่ที่เมืองเจี้ยนเยี่ย ( นานกิง ) จึงย้ายเมืองหลวงจากเมืองซูโจวมายังเมืองเจี้ยนเยี่ย เปลี่ยนนามเมืองเป็น เจี้ยนคัง ขณะนั้นหลินลู่อายุได้ ๔๓ ปี โปรดฯให้หลินลู่เข้ารับตำแหน่ง ส่านจี้ฉางซื่อ เป็นคณะกรรมการบริหารระดับสูง และยังโปรดเกล้าฯ ให้หลินลู่เป็นข้าหลวงเมืองเหอผู่ หรือ เหอผู่ไท่โส่ว อีกตำแหน่งหนึ่งด้วย
ข้าหลวงเมืองจิ้นอาน
ถึง พ.ศ. ๘๖๕ ฮ่องเต้จิ้นเอียนตี้ก็เสด็จสวรรคต ซือหม่าเส้าอ๋องเสด็จขึ้นครองราชย์เป็น ฮ่องเต้จิ้นหมิงตี้ ซึ่งขณะนั้นหลินลู่อายุได้ ๔๘ ปี ตามหัวเมืองต่างๆมีโจรผู้ร้ายชุกชุม พระองค์จึงโปรดฯให้ขุนนางนายทหารออกไปปราบปรามพวกโจรที่ตั้งตนเป็นอ๋องมีสมัครพรรคพวกเป็นหมื่นๆคน และทรงเห็นว่า หลินลู่รับราชการมานานเป็นผู้มีความซื่อสัตย์กตัญญูต่อแผ่นดิน มีความรู้ทั้งฝ่ายบู๊ซึ่งเป็นถึงนายพลทหาร และฝ่ายบุ๋นที่รับราชการในพระราชวัง ทรงเห็นว่าขณะนั้นแขวงเมืองเจียงโจว (ซึ่งรวมมณฑลเจียงซี ฝูเจี้ยนและเจ้อเจียงในปัจจุบัน ) มีผู้ร้ายชุกชุมโดยเฉพาะพวกโจรสลัดตามชายฝั่งทะเลและตามเกาะแก่ง ตามทะเลสาบและแม่น้ำที่ติดต่อกับแม่น้ำแยงซีเกียง นอกจากมีชนเผ่าหมินเย่ว์ ๗ ชนเผ่าพื้นเมืองที่อาศัยอยู่เดิม ตามไหล่เขาและภูเขาโดยทั่วไปแล้วยังมีคนจีนทางภาคเหนือที่อพยพลงในช่วงนั้นเป็นจำนวนมาก บางกลุ่มตั้งตนเป็น อ๋อง ซ่องสุมผู้คนเป็นจำนวนหมื่น คอยปล้นคนเดินทางค้าขายระหว่างเมือง ในปี พ.ศ. ๘๖๖ จึงโปรดฯให้ หลินลู่ไปเป็นข้าหลวงเมืองจิ้นอาน ( เมือง ฝูโจวในปัจจุบัน ) ขณะที่มีบรรดาศักดิ์เป็นชั้น โหว ( เจ้าพระยา ) เป็น จิ้นอานโหวไท่โส่ว หลินลู่จึงอพยพครอบครัวญาติร่วมแซ่ และผู้ติดตามจากเมืองหลวงเจี้ยนคังลงมาทางใต้ที่เมืองจิ้นอาน เมื่ออายุได้ ๔๙ ปี ต่อมาหลินลู่ได้ภรรยาอีกคนหนึ่งชื่อ ข่งซื่อ นางถือกำเนิดเมื่อ วันที่ ๑๖ ค่ำ เดือน ๓ ตามจันทรคติจีน สมัยฮ่องเต้จิ้นอู่ตี้ ในปีเสียนหนิงที่ ๔ พ.ศ. ๘๒๑ มีบุตรชายด้วยกันสองคน คนพี่ชื่อ หลินจิ่ง หรือหลิมเก้ง 林景 คนน้องชื่อ หลินเซียน หรือหลิมเสียน 林暹
ทั้งสองคนพี่น้องต่างได้รับการศึกษาด้านภาษาขนบธรรมเนียมประเพณี ตามลัทธิขงจื่อและลัทธิเต๋า รวมทั้งการได้รับการฝึกหัดอาวุธประเภทต่างๆ ตำราพิชัยสงครามและอื่นๆตามฐานะของลูกขุนนางผู้ใหญ่
เมื่อถึงเวลาสอบไล่แข่งขันเพื่อรับราชการ หลินจิ่งได้เข้าสอบไล่จนสามารถไต่เต้าขึ้นไปถึงระดับเมืองหลวง และได้เข้ารับราชการในสำนักงานคณะกรรมการการสอบไล่ เพื่อคัดคนเข้ารับราชการ จนได้รับตำแหน่งระดับรองเสนาบดีคณะกรรมการการสอบไล่ ที่ ตงไถซื่อหลาง 東臺侍郎 รองเสนาบดีสำนักงานกรรมการการสอบไล่ 門下省 เหมินเซี่ยเสิง หรือ ซื่อจงเสิง 侍中省 ในเวลาต่อมา จากประวัติฉบับภาษาไทยเขียนเป็น ทงจือหรัง 通侍郎? แต่บรรดาศักดิ์ ซื่อหลาง 侍郎 ใช้มาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่น เป็น รองเสนาบดีระดับกระทรวง หรือ รองรัฐมนตรีในปัจจุบัน
ฝ่ายหลินเซียน เมื่อโตขึ้นจึงรับราชการทหารตามที่ตนถนัด ที่เมืองหลวงเช่นเดียวกับพี่ชาย จากนายทหารระดับล่างไต่เต้าขึ้นไปจนถึงนายทหารยศนายพล หรือ เจียงกวน หรือเจียงกุน หรือเจียงจวิน ในระดับ เว่ยเจียงจวิน 卫将军 เป็นที่ ฮู่เว่ยเจียงจวิน 护卫将军 หรือฮู้อุยเจียงกุน ประจำกองบัญชาการฝ่ายรักษาการณ์เมืองหลวง ตำแหน่งเว่ยเจียงจวิน ต่ำกว่านายพลสูงสุดอยู่สามตำแหน่งคือ ต้าเจียงจวิน 大将军 เปียวฉีเจียงจวิน 骠骑将军 และ เชอฉีเจียงจวิน 车骑将军
ข้างพี่ชายของหลินลู่ คือ หลินมู่ ภรรยาชื่อ อุ่ยซื่อ หลินมู่รับราชการเป็นนายอำเภอเซี่ยพี ( พีโจว อยู่ในมณฑลเจียงซูปัจจุบัน ) มีบุตรชาย ๖ คน รับราชการทั้งหกคน จนได้ชื่อว่า หกมังกรรุ่งเรืองทางเหนือ ของฝั่งแม่น้ำแยงซีเกียง
จิ้นอานอ๋อง
หลินลู่รับราชการมาจนถึงสมัยฮ่องเต้จิ้นหมู่ตี้ จึงถึงแก่อสัญกรรม เมื่อวันที่ ๒๖ ค่ำ เดือน ๙ ( บางตำนานถือเอาวันที่ ๙ ค่ำเดือน ๙ )ตามจันทรคติจีน ในปีหย่งเหอที่ ๑๒ สมัยฮ่องเต้จิ้นหมู่ตี้ พ.ศ. ๘๙๙ รวมอายุได้ ๘๒ ปี หลังจากถึงแก่อสัญกรรมแล้ว ฮ่องเต้จิ้นหมู่ตี้ โปรดฯพระราชทานฐานันดรศักดิ์ เป็น อ๋อง พระนาม จิ้นอานอ๋อง หรือ อ๋องแห่งเมืองจิ้นอาน ซึ่งเป็นตำแหน่งเกียรติยศอันสูงสุดของขุนนางจีนที่ไม่ใช่เชื้อพระวงศ์จะพึงได้รับจากฮ่องเต้ให้มีฐานะเป็นเชื้อพระวงศ์ เสมือนพระญาติ ด้วยคุณงามความดีความซื่อสัตย์กตัญญู และมีผลงานเป็นที่ปรากฏที่สะสมมาตลอดชีวิตนั่นเอง ตามธรรมเนียมในสมัยนั้น บุตรชายจะได้รับแต่งตั้งเป็นข้าหลวงสืบแทนบิดาต่อไป
พระศพจิ้นอานอ๋องฝังไว้ที่เนินเขาจิ่วหลงซาน อำเภอเหวินหลิง แขวงเจียงโจว ( ปัจจุบันคือ เนินเขาถู่หลิง อำเภอฮุ่ยอาน มณฑลฝูเจี้ยน) ส่วนฮูหยินข่งซื่อ ถึงแก่อสัญกรรมวันที่ ๒๘ ค่ำ เดือน ๑๐ ตามจันทรคติจีน ในปีหลงเหอที่ ๑ รัชสมัยฮ่องเต้จิ้นไอ่ตี้ พ.ศ. ๙๐๕ สิริรวมอายุได้ ๘๔ ปี ศพฝังไว้ที่สุสานเดียวกัน
ในช่วงสมัยปฏิวัติวัฒนธรรมในจีน ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๐๘ ๒๕๑๑ เพื่อพิฆาต สี่เก่า คือ ความคิดเก่า วัฒนธรรมเก่า ประเพณีเก่า ความเคยชินเก่า เยาวชนพวกเรดการ์ด หรือ ธงแดง ได้ทำการปฏิวัติทั่วประเทศภายใต้คำสอนของเหมาเจ๋อตุง โดยผ่านนางเชียงชิงภรรยาเป็นผู้นำ เพื่อเป็นการขุดรากถอนโคนลัทธิแก้ เป็นการสร้างประวัติศาสตร์ใหม่โดยไม่ต้องอาศัยของเก่า ดังนั้นศาลเจ้า วัด สุสานทุกศาสนา โต๊ะบูชาบรรพบุรุษและเทพเจ้า พระพุทธรูปภายในบ้านของชาวบ้านจึงถูกทำลายลงเป็นจำนวนมาก รวมทั้งสุสานของจิ้นอานอ๋องด้วย ซึ่งตั้งอยู่ที่ถนนถู่หลงกวาน เมืองฮุ่ยอาน สุสานบรรพบุรุษแซ่ต่างๆบริเวณแถบนี้ถูกทำลายเช่นเดียวกัน ในส่วนของสุสานจิ้นอานอ๋องนั้น เดิมได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์มาแทบทุกยุคสมัยราชวงศ์จนใหญ่โตสวยงาม เช่น สมัยราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิง หลังจากสิ้นยุคปฏิวัติวัฒนธรรมแล้ว ลูกหลานและรัฐบาลท้องถิ่นตลอดจนสมาคมแซ่ตระกูลทั้งในจีนและต่างประเทศ ต่างเข้าไปซ่อมแซมบูรณะ ซึ่งยากที่จะให้สวยงามเหมือนเดิม และในปี พ.ศ. ๒๕๒๙ สมาคมตระกูลลิ้มแห่งประเทศไทยได้บริจาคเงินจำนวนหนึ่งเพื่อบูรณะซ่อมแซมสุสานจิ้นอานอ๋อง
ในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ สมาคมตระกูลลิ้มแห่งประเทศไทยได้รับเชิญจากคณะกรรมการบูรณะโบราณวัตถุและวัฒนธรรมสมาคมตระกูลลิ้มแห่งมณฑลฝูเจี้ยน เพื่อให้ไปสักการะจิ้นอานอ๋องที่สุสาน ในโอกาสวันครบรอบวันสิ้นพระชนม์จิ้นอานอ๋องครบ ๑๐๓๐ ปี และเมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๔๑ คณะกรรมการบริหารสมาคมตระกูลลิ้มแห่งประเทศไทยได้เดินทางไปตรวจงานก่อสร้างซ่อมแซมสุสานจิ้นอานอ๋องที่เมืองฮุ่ยอานด้วย
จิ้นอานอ๋อง ชาวสกุลแซ่หลิม ( หลิน ลิม ลิ่ม ลิ้ม แหลม หลัม เหล่ม อิม ริม ฮายาชิอิ ) ถือว่าท่านเป็นปฐมวงศ์สกุล แซ่หลิม สายฮกเกี้ยนที่กระจายไปตามมณฑลเจ้อเจียง ฝูเจี้ยน เจียงซี กว่างตง กว่างซี ไต้หวัน ฮ่องกง ฯลฯ และอพยพไปทำมาหากินตามประเทศต่างๆแถบเอเชีย ยุโรป อเมริกา เป็นต้น
: สมบูรณ์ แก่นตะเคียน ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๔๙
|
บทความอื่นๆ ในหมวดเดียวกัน
|
|
|
|